ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สวทช.เลือกภูเก็ตเป็นตัวแทนใต้ จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดสดเสริมสร้างสุขภาพ

วันที่ลงข่าว: 08/07/13

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สวทช. เลือกภูเก็ตเป็นตัวแทนภาคใต้ จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วม 5 หน่วยงาน เป็นภาคีเครือข่ายในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ และผู้สูงอายุร่วมกัน

       

        วันนี้ (5 ก.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ภายใต้โครงการการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร ผ่านการบริหารจัดการโดยชุมชน ซึ่งโครงการนี้จัดเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และสุขภาวะอย่างยั่งยืน

       

        โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส.โดย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กับเทศบาลนครภูเก็ต โดย น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดย รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี เทศบาลเมืองกระบี่ โดย นายชาญณรงค์ ลีลาบูรณพงศ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ เทศบาลตำบลคึกคัก โดยนายสวัสดิ์ ตันเก่ง นายกเทศมนตรีตำบลคึกคัก กับโรงพยาบาลกระบี่ โดยนายแพทย์วีระวัฒน์ ยอแสงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ ในการที่จะร่วมมือกันในการที่จะจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก

       

        ดร.ภาณุพงษ์ วันจันทึก ที่ปรึกษาโครงการการพัฒนาเครือข่ายการให้บริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจรผ่านการบริหารจัดการโดยชุมชน กล่าวถึงรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่า สำหรับโครงการฯ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบด้านผู้พิการและผู้สูงอายุ ในการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับความต้องการ และสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกการพัฒนาเครือข่ายงานวิจัย และการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้ใช้ และชุมชน โดยจากการพัฒนาต่อยอดจากงานที่มี หรือการพัฒนาเทคโนโลยีจากเครือข่ายชุมชนที่สร้างขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในชุมชนจริงๆ

       

        นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางความคิด และการบริหารจัดการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากส่วนกลางเข้าสู่ระบบบริหารจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการระบุปัญหา กำหนดวิธีการแก้ปัญหาจัดระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้เกิดศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับภูมิภาค ในการทำวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค หรือในระดับชุมชนของตนเองได้ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกในการร่วมมือกันทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุ และชุมชนของตนเองในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ

       

        อย่างไรก็ตาม สำหรับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ดังกล่าว ได้กำหนดจัดตั้งขึ้น จำนวน 5 ศูนย์ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง ที่จังหวัดปทุมธานี ภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย และภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต

       

        ทั้งนี้ ในการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ในทุกภูมิภาค ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบด้านผู้พิการ และผู้สูงอายุ และสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น และในการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ในภาคใต้นี้ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลตำบลคึกคัก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลกระบี่ ที่เป็นภาคีเครือข่ายที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ และผู้สูงอายุร่วมกัน และมาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก