ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศูนย์การเรียนเพื่อ “คนพิการ” นนทบุรี ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางการศึกษา

วันที่ลงข่าว: 17/06/13

ปัจจุบันประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิของคนพิการในการรับบริการทางการศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษประจำแต่ละจังหวัด เพื่อจัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และเตรียมความพร้อมของคนพิการทั่วประเทศ

    ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนนทบุรีจัดตั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 พร้อมกับศูนย์อื่นๆ ในแต่ละจังหวัด เป็นศูนย์ซึ่งได้รับการจัดตั้งเพื่อจัดการศึกษาในลักษณะช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อม สนับสนุนการเรียนการสอน การจัดครูเดินสอน จัดสื่อสิ่งอำนวยความสะดวกการให้บริการ และช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องแก่คนพิการและสถานศึกษาในจังหวัดนนทบุรี

    นายวิรัตน์ชัย ยงวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ในระยะเริ่มการให้บริการศูนย์การศึกษาพิเศษฯ ได้จัดตั้งอยู่ในโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีทั้ง 3 เขต มีขนาดเพียง 1 ห้องเรียน 

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2555 จึงได้ย้ายศูนย์มาที่องค์การบริหารส่วนตำบลพิมลราช (แห่งเก่า) เนื่องจากทาง อบต.พิมลราชย้ายที่ประจำการใหม่ แต่ทางศูนย์ยังขาดวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกอีกหลายอย่าง และในอนาคตทางศูนย์ได้รับความอนุเคราะห์ที่ดินแถวแยกบางพลู (ที่ดินราชพัสดุของโรงเรียนวัดโมลี) ให้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งกำลังจัดตั้งงบประมาณเพื่อทำการก่อตั้ง เป็นพื้นที่ที่สะดวกในการใช้บริการของประชาชนมากขึ้น เนื่องจากเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่าน

    การให้บริการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนนทบุรี

    ในขณะนี้ทางศูนย์ให้บริการในเรื่องการส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับเด็กพิการตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้บริการฟรีตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ภารกิจคือการจัดให้บริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ, การออกไปให้บริการเด็กพิการที่บ้าน, การให้บริการแก่เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลและการพัฒนาผู้ปกครอง ผู้ดูแล ในกิจกรรม “ฝากบ้านเป็นโรงเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” 

เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองบางคนไม่สามารถพาเด็กมาโรงเรียนได้ จึงได้จัดอบรม ความรู้ การผลิตสื่อให้สามารถดูแลเด็กที่บ้านได้ อีกทั้งให้บริการแก่เด็กที่เรียนร่วมในโรงเรียนภายในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี รวมถึงการส่งครูบุคลากรไปให้บริการตามศูนย์ สถานสงเคราะห์ โรงเรียน โรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย

ทางศูนย์นนทบุรีให้บริการเด็กที่มีความบกพร่องทั้ง 9 ประเภทซึ่งประกอบด้วยเด็กพิการที่มีความบกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ บกพร่องทางการพูดและภาษา บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ บุคคลที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ บุคคลออทิสติก บุคคลพิการซ้อน ขึ้นทะเบียนกับศูนย์การศึกษาพิเศษมีจำนวน 288 คน มาใช้บริการที่ศูนย์ 148 คน รับบริการทางบ้าน 140 คน ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 กว่าปี เฉลี่ยจำนวนนักเรียนประมาณ 30 คนต่อไป-กลับต่อวัน หมุนเวียนสับเปลี่ยนตามความสะดวกของผู้ปกครองแต่ละครอบครัว

กิจกรรมการเรียนการสอน

ในการพัฒนาสมรรถภาพเด็กพิการทางศูนย์การศึกษาพิเศษจะให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และเตรียมความพร้อมตามประเภทความพิการ และระดับความรุนแรงของความพิการตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล เพื่อเด็กพิการได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพเฉพาะบุคคลให้สามารถฝึกทักษะ สามารถช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ตามแต่ระดับอาการ และประสานส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาต่อไป และในช่วงวันสำคัญจะมีกิจกรรมพิเศษต่างๆ ให้กับกลุ่มเด็กๆ ด้วย

รวมถึงมีการอบรมฝึกอาชีพให้กับผู้ปกครองเพื่อสามารถจะประกอบอาชีพพร้อมทั้งดูแลเด็กได้อย่างใกล้ชิ ดอาทิเช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกไม้จันทน์ การทำน้ำยาซักผ้าการทำกาแฟสด น้ำปั่น การทำซูชิ โดยให้ทางชมรมผู้ปกครองที่ทางศูนย์ส่งเสริมเป็นผู้ดำเนินการ

นางราชมาลี ต้อนรับ หรือครูป๋อม นักกายภาพบำบัดศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนนทบุรี เผยว่า สำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษฯ มีภารกิจหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนเตรียมความพร้อมของเด็กพิการทุกประเภท ซึ่งตอนเช้าเด็กๆ จะมาเรียนตั้งแต่ 08.30-12.00 น. ก็จะมีกิจกรรมตั้งแต่เข้าแถว เคารพธงชาติ และก็จะเป็นกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างทักษะในเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางด้านสังคมให้เด็ก จากนั้นก็จะแยกไปฝึกตามห้องในกลุ่มของสติปัญญา กลุ่มเด็กออทิสติก และเด็กกลุ่มร่างกาย ซึ่งกลุ่มร่างกายนี้เป็นส่วนที่ครูป๋อมดูแลอยู่  

กิจกรรมในช่วงบ่ายของศูนย์จะเป็นการไปนิเทศเด็กที่เรียนร่วมในโรงเรียน การออกไปเยี่ยมเด็กตามบ้าน และยังมีการอบรมให้ความรู้กับผู้ปกครองให้สามารถดูแลเด็กอย่างถูกต้อง นอกจากการมุ่งให้ความรู้กับผู้ปกครองแล้ว ทางศูนย์จะดึงกลุ่มเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจะผลักดันให้ชุมชนย่อมรับในศักยภาพเด็ก

ส่วนใหญ่เด็กที่มาเข้ารับบริการที่นี่มักจะเป็นเด็กที่ถูกปฏิเสธมาจากโรงเรียน เด็กที่ทางบ้านฐานะยากจนดูแลไม่ไหว ในปัจจุบันผู้ปกครองหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญดูแลบุตรหลานมากขึ้น โดยนำเด็กที่มีอายุตั้งแต่ยังเล็กมาเข้าศูนย์ ซึ่งในเด็กช่วงอายุน้อยมารับบริการก็จะทำให้การพัฒนาการต่างๆ ก็จะเร็วขึ้นตามศักยภาพของแต่ละคน ในส่วนของเด็กกลุ่มร่างกาย ครูป๋อมในฐานะเป็นนักกายภาพมีหน้าที่ดูแลในเรื่องของทักษะทางด้านการเคลื่อนไหวของเด็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ด้านการทรงตัว โดยใช้กิจกรรมมาช่วย เช่น การขว้างบอล โยนบอล เพื่อให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวอย่างมีคุณภาพ โดยส่วนใหญ่จะดูแลเด็กพิการทางบ้านมากกว่า เพราะการจะนำเด็กที่พิการด้านร่างกายเป็นเรื่องลำบากของผู้ปกครอง

“หากผู้ปกครองท่านใดมีลูกหลานที่พิการอย่าเพิ่งท้อ การที่พ่อแม่นำลูกเข้าสู่สังคม หรือพาลูกไปฝึกตามศูนย์ต่างๆ ทำให้เปิดโลกกว้างสำหรับพ่อแม่เอง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ดูแลเด็กพิการด้วยกัน จะได้มีกำลังใจ เข้มแข็ง มีความภาคภูมิใจในการเป็นครูพ่อครูแม่ให้กับผู้ปกครองท่านอื่นๆ ได้” ครูป๋อมกล่าว

ร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อเด็กพิการได้ที่ บัญชีมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สาขาภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี ธนาคารกรุงไทย สาขาบางบัวทอง ประเภทออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 121-0-02610-4 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-21957756.

 

ศูนย์การศึกษาพิเศษ คือสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยแก่คนพิการตั้งแต่แรกเกิด หรือแรกพบความพิการจนตลอดชีวิต และจัดการศึกษาอบรมแก่ผู้ดูแลคนพิการ ครู บุคลากรและชุมชน รวมทั้งการจัดสื่อเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นใด ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในประกาศกระทรวง

กลยุทธ์ในการสร้างกำลังใจของศูนย์การศึกษาพิเศษนนทบุรี

เป็นกลยุทธ์ของนายวิรัตน์ชัย ยงวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนนทบุรี ในการตั้งชื่อห้องต่างๆ ในศูนย์ เพื่อให้ผู้ที่มาพบปะหรือผู้ปกครองมีกำลังใจ อย่าท้อและอย่ายอมแพ้ เช่น ห้องหัวใจนักสู้ ห้องเชิดชูคุณธรรม ห้องชี้นำสู่โลกกว้าง ห้องเสริมสร้างกำลังใจ ห้องก้าวไกลไร้อุปสรรค ห้องพลังรักสร้างสรรค์ อาคารแบ่งปันรอยยิ้ม และอาคารแม่พิมพ์คุณภาพ

ทำอย่างไรเมื่อพบว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ

    1.พ่อแม่ควรดูพัฒนาการของลูกและเรียนรู้วิธีการรักษาอย่างต่อเนื่อง

    2.การพาไปรักษา ควรจัดการให้ลูกได้ฟื้นฟู พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะต้องรู้ข้อพึงระวังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงแทรกแซงพฤติกรรมเด็กกลุ่มนี้โดยเด็ดขาด

    3.ให้เด็กออกกำลังกาย แต่ไม่เน้นการแข่งขัน เพราะจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง

    4.ต้องพาเด็กออกไปเล่นหรือสัมผัสกับชุมชนภายนอกบ้าง เพื่อป้องกันการรังเกียจจากสังคม

    5.เรื่องการเรียน พ่อแม่ต้องดูโรงเรียนที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการรังแกจากเด็กคนอื่น หรือปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา.

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก