ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อนุบาลในความมืด

วันที่ลงข่าว: 13/06/13

อนุบาลในความมืด

ถ้าต้องสูญเสียสายตา สำหรับคน 'เคยเห็น' นั่นหมายถึงชีวิตโดนกดปุ่ม 'รีเซ็ต' ให้ต้องเริ่มต้นใหม่ และที่แห่งนี้ก็คงเหมือนโรงเรียนอนุบาล สอนตั้งไข่ ให้ใช้ชีวิตได้ในความมืด

ลองคิดดูเล่นๆ ว่า ถ้าต้องถูกปิดตา มองไม่เห็นอะไรเลย แล้วคุณจะดำรงชีวิตตามปกติได้หรือไม่ จะเอาตัวรอด เลี้ยงดูตัวเอง และไปไหนมาไหนเหมือนเคยได้อย่างไร

 

หากคำตอบ คือ ไม่ ก็ขอให้รู้ว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำได้แม้โลกตรงหน้าจะมืดมิด...

 

สำหรับ 'พวกเขา' เหล่านักเรียนกว่า 300 คนที่จบหลักสูตร ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเห็น จากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ทราบหรือไม่ว่า ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น แต่ก็ทำได้แม้กระทั่งซักผ้า รีดผ้า แถมยังนั่งรถเมล์ไปจ่ายตลาด และทำกับข้าวกินเองก็ยังได้!

 

ปลดพันธนาการ

ถึงแม้คนตาบอดจะไม่ได้ถูกโซ่ตรวนตรึงขาไว้ไม่ให้ไปไหน แต่ก็ยังมีคนตาบอดจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าไปไหนมาไหนไกลเกินกว่าเขตบ้านตามลำพัง

 

...บ้างก็เพราะใจไม่สู้เอง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ทางบ้านไม่ยอมปล่อยให้มาผจญโลก

 

"บางบ้าน เจตนาดีมาก พี่รักน้อง ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งน้อง จะดูแลน้อง แต่เมื่อตัวเองแต่งงานมีครอบครัว มีลูกที่ต้องดูแล เขาก็ทำใจลำบาก ต้องดูลูกนั่งรถเมล์ไปไหนต่อไหน สุดท้ายก็ต้องพาน้องมาเรียน เพื่อที่น้องจะได้ดูแลตัวเองได้" ณุชนาฎ โต๊ะดี นักวิชาการศึกษา (ผู้ชำนาญการ) เอ่ย พร้อมระบุถึงปัญหาสำคัญที่ล็อกชีวิตของคนตาบอดให้ลุกขึ้นสู้ได้ยาก ก็เนื่องจากการไม่ยอมรับตัวเอง

 

...ไม่ยอมใช้ไม้เท้า เพราะไม้เท้าเท่ากับคนตาบอด และคนตาบอดก็เท่ากับขอทาน

 

"การจะฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเห็นให้ประสบความสำเร็จได้ เรื่องของทัศนคติ มุมมองต่อตัวเอง คือเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเขายังมองตัวเองในทางลบ ว่า 'ฉันเป็นคนพิการ ฉันทำอะไรเองไม่ได้ ต้องรอให้คนอื่นช่วย' เขาจะไม่สามารถทำอะไรได้ แล้วยังเลยไปจนถึงคิดว่า ตัวเองเป็นภาระของสังคม และมองตัวเองด้อยค่า" มาลิน เนาว์นาน นักวิชาการศึกษาให้คำปรึกษาเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเอ่ย

 

เธอมองว่า ถ้าสามารถปรับความคิด มุมมองเกี่ยวกับตัวเองได้ ก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองในขั้นต้นได้ และเชื่อมต่อไปยังทัศนคติในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ไปจบที่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลาย

 

'คุณภาพชีวิตที่ดี' ที่มาลินเอ่ยถึง คือความสามารถในการคิด ตัดสินใจ และทำอะไรได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอพึ่งพาคนอื่น หรือเรียกอีกอย่างว่า 'ชีวิตอิสระ'

 

...และไม่น่าเชื่อว่าหลักสูตร 15 วัน อบรมแบบจัดเต็มทั้งสิ้น 120 ชั่วโมง จะช่วยพลิกฟื้นชีวิตที่มืดมิดให้กลับมีแสงสว่างอยู่ในใจได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว

 

สู่อิสรภาพ

หลักสูตรอบรมฟื้นฟูสมรรถภาพฯ นี้ เกิดขึ้นเพื่อสร้าง 'ทักษะชีวิต' ให้ผู้พิการทางการเห็นสามารถมีชีวิตในโลกภายนอกได้อย่างปกติสุข หากพวกเขามีความมั่นใจที่จะก้าวเท้าออกนอกประตูบ้านได้ด้วยตนเอง หลักสูตรพัฒนาในระดับสูงขึ้นอย่างทักษะอาชีพก็จะตามมา

 

"มันก็เปรียบเหมือนเขากำลังจะสร้างบ้าน เขามาหาเรา ก็เพื่อปลูกเสาเข็ม เราทำหน้าที่วางรากฐานบ้านของเราให้แข็งแรง ถ้าเสาเข็มไม่แข็งแรง จะสร้างหรือพัฒนาต่อก็ยาก" มาลิน อธิบาย

 

ณุชนาฎเล่าถึงการเรียนการสอนว่า เริ่มจากการให้คำปรึกษา สัมภาษณ์ เก็บประวัติ ประเมินการทรงตัว ความสามารถในการมองเห็น ตลอดจนการใช้สื่อเทคโนโลยีโดยบุคลากรด่านแรก คือ มาลิน และส่งต่อข้อมูลให้กับณุชนาฎนำไปทำความเข้าใจลูกศิษย์รุ่นนั้นๆ

 

จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรม และฟื้นฟู ซึ่งจะเริ่มจากการแชร์ประสบการณ์ด้วยคำถามง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น บีบยาสีฟันอย่างไร..

 

"บางคนก็บีบเหมือนตอนตาดี มันก็เลอะสิ ใช่มั้ย บางคนก็ใช้สองนิ้วคีบแปรงไว้ แล้วเอาอีกมือบีบยาสีฟันตามที่นิ้วแนบขนแปรงอยู่ แต่มันก็เลอะอยู่ดี อีกคนสิ ยกมือแล้วบอกว่า ไม่เห็นยากเลย.. ก็บีบยาสีฟันใส่นิ้วแล้วเอามาป้ายที่ฟัน แล้วก็หยิบแปรงมาแปรงไง ซึ่งมาคิดดูแล้ว วิธีนี้มันง่ายมากเลยนะ" ณุชนาฎเล่า

 

ไม่ใช่อาจารย์อย่างเธอเท่านั้นที่เอาความรู้มาสอนนักเรียน เพราะทุกๆ ครั้งที่เจอนักเรียนรุ่นใหม่ เธอก็มักจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ

 

"นักเรียนรุ่นนี้มีวิธีแยกแบงก์ได้ตั้ง 9 แบบแน่ะค่ะ" เธอเล่าอย่างภูมิใจ

 

เมื่อนักเรียนเริ่มปรับตัวได้ อาจารย์อย่างเธอก็จัดหนักมากขึ้น จากวันแรกๆ นักเรียนซึ่งส่วนใหญ่อยู่หอ ก็จะเกาะๆ กันมาพร้อมกัน แต่ผ่านไปสักระยะ จะโดนจับแยกโดยไม่ให้รู้ตัว เช่นดึงคนหนึ่งไว้ บอกว่ามีธุระ แล้วให้อีกคนกลับเอง จนนักเรียนคุ้นชินกับการเดินทางตัวคนเดียว

 

โจทย์ถัดมา อาจารย์เสียงหวานแต่เด็ดขาด ก็มอบหมายภารกิจแบ่งกลุ่มไปตลาดสด ซื้อกับข้าวมาทำอาหารกินด้วยกัน

 

แม้จะเป็นการออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยของนักเรียนตาบอดด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก แต่คุณครูและครูพี่เลี้ยงก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำตัดหางปล่อยวัดเสียทีเดียว เพราะพวกเธอจะคอยตามแอบดูอยู่ห่างๆ ซึ่งวิธีนี้ ณุชนาฎ ฝากไปถึงครอบครัวที่มีคนตาบอดต้องดูแลว่า เพียงแค่ตามแอบดู คอยช่วยเหลือหากเกิดเหตุอันตราย และไม่ปรากฏตัวหากไม่จำเป็น ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขามากขึ้น

 

"คนจะคิดว่า เตาแก๊ส เป็นอันตรายกับคนตาบอด ทั้งๆ ที่มันมีเซฟตี้นะ ก่อนจุดไฟก็เปิดเซฟตี้ไว้ก่อนสิ พอวางไม้ขีดแล้ว ค่อยเปิดแก๊ส ก็ไม่เป็นอันตรายแล้ว ปลั๊กไฟก็เหมือนกัน ถ้าเอามือคลำๆ กว่าจะหารูเจอ ถ้ากลัวว่าไฟจะดูด ก็ต่อปลั๊กสามตาที่มีสวิตช์เปิดปิดสิ เสียบให้เสร็จแล้วค่อยเปิดสวิตช์แค่นี้เอง" เธออธิบาย

 

การคิดนอกกรอบ และหัดสังเกตสังกา ใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น คือใจความสำคัญที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น การจะเดินริมถนน ก็ต้องคอยฟังเสียงรถว่า ขนานไปกับตัวเราหรือไม่ ถ้าขนานแปลว่าเราเดินอยู่ริมทางเท้าถูกต้อง แต่ถ้าได้ยินเสียงรถอยู่ข้างหลัง นั่นคือผิดแล้ว อันตรายอาจเกิดขึ้นได้เพราะเราเดินอยู่บนถนน เป็นต้น

 

มืด.. ไม่ไร้แสง

"อาจารย์สอนผมผ่าหลังกุ้ง เพื่อดึงเส้นที่กลางหลังออก แล้วก็เอามาผัดผัก แต่ตอนนั้นผมว่ามันจืดไปหน่อย เพราะกลัวจะเค็ม ก็เลยไม่กล้าใส่น้ำปลาเยอะ" อุดม อ่อนนาเลน อดีตนักเรียนที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วเล่าย้อนความหลังให้ฟัง โดยเขาจำได้แม่น ถึงอาหารจานแรกในชีวิตที่เป็น อาหารจริงๆ เพราะแม้กระทั่งตอนตาดี เขาทำได้อย่างเก่งก็ทอดไข่

 

ทุกวันนี้พ่อหม้ายลูกหนึ่งอย่าง อุดม ต้องตื่นแต่เช้า ออกจากบ้านในย่านพุทธมณฑลสาย 6 เพื่อขึ้นรถเมล์มาทำงานเป็นไกด์นำชมนิทรรศการ Dialogue in the Dark (DID ) หรือ บทเรียนในความมืด ที่อาคารจามจุรีสแควร์ และเลิกงานราวทุ่มครึ่ง กว่าจะกลับถึงบ้าน เข็มนาฬิกาก็ปาเข้าไป 4 ทุ่ม

 

ยิ่งเมื่อก่อน ในตอนที่ลูกชายยังอาศัยอยู่ด้วย อุดม สารพัดจะดูแลลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ทั้งอาบน้ำ แต่งตัว ทำกับข้าวให้กิน พาไปส่งที่หน้าปากซอย จากนั้นพ่อลูกก็แยกย้ายต่างคนต่างไปทำหน้าที่ เพื่อจะกลับมาเจอกันอีกครั้งที่หน้าปากซอยในตอนเย็น และเดินกลับบ้านด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้ ด้วยความที่ลูกชายโตขึ้น ตัวเขาก็เริ่มจะสอนการบ้านไม่ได้ ก็เลยส่งให้ไปอยู่กับแม่ แล้วค่อยกลับมาอยู่กับอุดมในตอนปิดเทอม

 

"ผมตาบอดจากอุบัติเหตุ สองปีแรกท้อมาก ไม่อยากมีชีวิตด้วยซ้ำ ยิ่งภรรยาขอแยกทางตอนที่ผมตาบอดได้ 2 ปีก็ยิ่งท้อ แต่พอดูทีวี เห็นว่ามีคนที่ตาบอดเหมือนผม แต่เขาไปเที่ยว เดินทางไปไหนต่อไหนได้ ผมก็เลยอยากทำได้บ้าง ก็เลยมาเรียนที่นี่ ถ้าผมไม่ได้มาเรียนที่นี่ ก็คงไม่มีวันนี้ละครับ" เป็นคำยอมรับจากใจลูกผู้ชายอย่าง อุดม ที่สู้สุดชีวิตเพื่อลูกชายซึ่งเป็นความฝันทั้งชีวิต

 

ขณะที่ศิษย์ผู้พี่สามารถโลดแล่นอย่างมีอิสระ ดูแลตัวเองได้อย่างดี และมีงานมีการทำ ศิษย์น้องที่กำลังอยู่ระหว่างอบรมอย่าง เด่นชัย เพ็งพลา ซึ่งกำลังอยู่กับภาพเลือนรางตรงหน้า ด้วยความสามารถในการมองเห็นราว 20 เปอร์เซ็นต์ก็กำลังมีความหวังในชีวิตใหม่เช่นกัน

 

ด้วยอาการเบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาขาด และวุ้นในตาเสื่อม หมอบอกว่าไม่มีทางแก้ ถ้าผ่าก็เปอร์เซ็นต์จะหายแทบไม่มี วันนี้สายตาเขาแย่ลงเรื่อยๆ หมอบอกให้ทำใจ เพราะคงมืดสนิทภายใน 3 ปี เขาขังตัวเองอยู่แต่ที่บ้านนาน 2 ปี แต่ได้กำลังใจจากลูกๆ ที่มักวิ่งเข้ามาหาพ่อ ปลอบพ่อว่าเดี๋ยวพ่อก็หาย ทำให้เด่นชัย รู้สึกมีกำลังใจที่จะสู้ และตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ

 

"จริงๆ ก็ยังหวังว่าจะหายนะ อยากให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น แต่ก็เผื่อใจอยู่ด้วย ถึงได้มาเรียนที่นี่" เขาบอก และก็ไม่ผิดหวังเพราะ จากเดิมที่เคยคิดว่าตัวเองไร้ค่า เมื่อได้มาเจอเพื่อนๆ ที่เป็นเหมือนกัน ดูแลความรู้สึกกัน แนะนำเรื่องดีๆ ให้แก่กัน ทำให้เขารู้แล้วว่า ชีวิตมีค่าเสมอ

 

"ยอมรับว่า แฮปปี้ขึ้นเยอะเลยครับ คิดเอาไว้ว่า ถ้าเรียนจบคอร์สนี้แล้ว ก็จะเรียนคอมพิวเตอร์ต่อ จะได้ไปสมัครงานได้ แล้วผมจะได้กลับมาทำงาน ช่วยหาเลี้ยงครอบครัวอีกครั้ง ตอนนี้ภรรยาทำงานหาเงินอยู่คนเดียว"

 

จากโจทย์ง่ายๆ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ คนตาบอดด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว หรือที่เรียกย่อๆ ว่า O&D (Orientation & Mobility) เมื่อการเรียนงวดเข้ามา นักเรียนในโลกมืดต้องเจอกับความท้าทายที่สุดในชีวิต เมื่อพวกเขาต้องเดินทางจากศาลายา ไปถึงสถานีรถไฟบางซื่อให้ได้ภายในบ่ายสองโมง ซึ่งเป็นเวลาของรถไฟเที่ยวสุดท้ายที่จะกลับมายังมหาวิทยาลัย

 

นั่นหมายความว่า พวกเขาจะต้องนั่งรถสองแถวไปต่อรถเมล์ แล้วต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงใต้ดินเอ็มอาร์ที เพื่อที่จะไปโผล่ขึ้นที่สถานีรถไฟบางซื่อ...

 

อย่าว่าแต่ติดเตาแก๊สทำอาหาร หรือส่งเด็กขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้า ฯลฯ เลย งานชวนเสียวอย่างรีดผ้าเธอยังสั่งให้นักเรียนทำมาแล้ว

 

"เจ็บก็ต้องเจ็บค่ะ ถ้าเขาไม่ทำ ก็จะไม่เป็น อย่างเวลาไปข้างนอกก็เหมือนกัน ถ้าเขาเจอคนดีๆ มาช่วยเหลือ ก็ต้องจำเอาไว้ว่า ไม่ได้จะมีแต่วันดีๆ แบบนี้นะ และวันรุ่งขึ้นเจอคนแย่ๆ ทำไม่ดีด้วย ก็ต้องอย่าลืม เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าวันต่อๆ ไปเราจะเจออะไรอีกบ้าง" เธอให้เหตุผล ถึงความจำเป็นของความโหด

 

เพราะ "ความจริง" คือ ที่ต้องเผชิญ

 

โดย : ปานใจ ปิ่นจินดา

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 13 มิถุนายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก