ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดนโยบายปี 2568 มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ความทันสมัย แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาฝีมือแรงงาน

วันที่ลงข่าว: 14/02/25

          นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยนโยบายการทำงานในปี 2568 หลังเข้ารับตำแหน่งเหลือเวลาทำงานไม่ถึง 1 ปี ก่อนจะเกษียณอายุราชการ ว่า แม้จะมีเวลาทำงานในตำแหน่งอธิบดีไม่มาก แต่มุ่งมั่นตั้งใจที่ปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันสมัย นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน เริ่มจากการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับคนในองค์กรก่อน และได้เริ่มดำเนินการแล้ว 1 รุ่นจากเป้าหมาย 4 รุ่น เบื้องต้นมีครูต้นแบบ 150 คน และพร้อมสนับสนุนให้ครูต้นแบบขยายผลถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรในหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญต้องปรับแก้กฎหมายที่เป็นข้อจำกัด เช่น เสนอปรับแก้ระเบียบในการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีเงินสะสมอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท แต่นำไปใช้สำหรับการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่กองทุนเท่านั้น จึงเตรียมแก้ระเบียบให้สามารถนำเงินไปลงทุนซื้อพันธบัตร หรือฝากธนาคารของรัฐ เพื่อสร้างผลตอบแทน และสามารถนำเงินไปจัดฝึกอบรมให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนฝึกอบรมไม่ทัน ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว จากปัญหาที่ผ่านมา เมื่อเปิดรับสมัครเพียงเวลาไม่นาน พบว่าคนสมัครเต็มจำนวน ซึ่งจำกัดหลักสูตรละ 20-30 คนเท่านั้น ทำให้ประชาชนที่ตั้งใจฝึกอบรมเสียโอกาส หากปรับแก้ระเบียบแล้ว ต่อไปคนอยากฝึกต้องได้ฝึก หากมีผู้สมัครเข้ามาเกินจำนวนที่เปิดรับต้องได้ฝึกทุกคน และหากฝึกไม่ครบหลักสูตร หรือไม่ครบวันที่กำหนดจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ไว้ รวมถึงสามารถสุ่มตรวจได้ว่าฝึกจริงหรือไม่ เบื้องต้นกรรมการกองทุนฯ เห็นด้วย นอกจากนี้ เสนอให้นำเงินกองทุนสามารถนำไปใช้ในสนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงาน จากงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งเยาวชนไปแข่งขันได้ประมาณ 10 สาขา ขณะที่หลายประเทศส่งแข่งขันถึง 50 สาขา จึงต้องมีการจัดระบบใหม่ โดยจัดให้มีเวทีการแข่งขันตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาฝีมือ

          ขณะที่ การฝึกอบรมสร้างทักษะอาชีพให้กับคนพิการ ทุกปีมีงบประมาณจำกัด สามารถจัดฝึกอบรมทั่วประเทศได้เพียง 600 คนเท่านั้น แต่ปีนี้ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยินดีสนับสนุนงบ 22 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดฝึกอบรมให้คนพิการได้อย่างทั่วถึง ในหลักสูตรที่คนพิการต้องการ และสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การริเริ่มครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะเป็นความร่วมมือในระยะยาวต่อไป รวมถึงจะเร่งฝึกอบรมเสริมทักษะฝีมือให้กับผู้สูงอายุ ในงานที่ไม่ซับซ้อนและเป็นทักษะที่สถานประกอบการ ต้องการ หลังฝึกเสร็จสิ้นก็จะประสานให้เข้าทำงานต่อไป 

          ส่วนทักษะที่จะเน้นฝึกอบรมในปีนี้ คือความรู้เบื้องต้นด้านรถยนต์ EV และรถยนต์ไฮบริด เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ EV วิธีช่วยเหลือที่ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้าควรทำอย่างไร โดยจะจัดฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครปอเต็กตึ้ง และอาสมัครร่วมกตัญญู จากนั้นจัดทำคลิปเผยแพร่ในหน่วยกู้ภัยทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเตรียมจัดฝึกอบรมให้กับผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ถอดบทเรียนจากกรณีเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษาแล้วเหตุรถโดยสารไฟฟ้า เด็กชีวิตจำนวนมาก โดยร่วมมือกับสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ในการจัดฝึกอบรมความปลอดภัยในรถบัสโดยสาร โดยเฉพาะการขับขี่ปลอดภัย การบำรุงรักษา เพื่อลดเหตุที่จะเกิดขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้คนเรียนรู้เพิ่มทักษะเรื่อง AI และเทคโนโลยีด้วย

          ขณะเดียวกัน นำร่องลดค่าต่ออายุหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (Certification) ให้กับช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จากเดิม 1,000 บาทในทุก 5 ปี เหลือเพียง 1 บาท เบื้องต้นจะนำร่องในปีแรกก่อน เพื่อประเมินผลลัพธ์ จากปัจจุบันช่างไฟฟ้าที่มีใบเซอร์ฯ มีประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้ 50,000 คน เลือกไม่ต่อใบเซอร์ฯ พร้อมกันนี้ต้องปรับแบบทดสอบใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ยังคงเก็บอัตราเดิมสำหรับการทดสอบความรู้ความสามารถในครั้งแรก คือ 1,000 บาท  

           นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะทำระบบทดสอบความรู้ความสามารถด้านไอที และการสอบวัดระดับด้านภาษาอังกฤษ ในลักษณะ TOEIC, TOEFL เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์คัดคนเข้าทำงานในระบบราชการ ค่าสอบประเมินเพียง 100 บาทตามกฎหมายพัฒนาฝีมือแรงงาน และจะเปิดศูนย์ทดสอบในจังหวัดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก

          นายเดชา ระบุว่า ทั้งหมดเริ่มต้นภายในปีนี้ มั่นใจว่าข้าราชการจะสานต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแน่นอน

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก