ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กปถ.ลำพูน คืนประโยชน์ให้สังคม มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ อันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้ผู้พิการสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันที่ลงข่าว: 30/01/25

          กองทุนเลขสวย (กปถ.) คืนประโยชน์ให้สังคม มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ อันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้ผู้พิการสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ที่ ห้องประชุม 100 ปีการสาธารณสุขไทย โรงพยาบาลลำพูน  แพทย์หญิง ลดาวรรณ หาญไพโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน  เป็นประธานในพิธีมอบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการอันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจาก การใช้รถใช้ถนน  โดยมีนายบุญเจริญ สิทธิเครือ ขนส่งจังหวัดลำพูน พัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน และประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลลำพูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมอบอุปกรณ์ฯ แก่ผู้พิการอันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจาก การใช้รถใช้ถนน จังหวัดลำพูน จำนวน 16 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,050,479 บาท  ในการที่จะช่วยเพิ่ม คุณภาพชีวิตของผู้พิการให้สามารถดำรงชีวิตประจำวัน หรือ ประกอบอาชีพ ได้ใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไป

           ซึ่งตามที่กรมการขนส่งทางบก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการ แพทย์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดสรรเงินเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ อันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 เพื่อยกระดับ มาตรฐานการจัดสรรเงินเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการอันเนื่องมาจากการประสบภัยที่เกิดจาก การใช้รถใช้ถนน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมและกระทรวง สาธารณสุข อันจะช่วยเพิ่ม คุณภาพชีวิตของผู้พิการให้สามารถดำรงชีวิตประจำวัน หรือ ประกอบอาชีพ ได้ใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไป โดยคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้ รถใช้ถนน ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสรรเงินเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการอันเนื่องมาจาก การประสบภัยที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน โดยการให้เงินสนับสนุนกับกระทรวงสาธารณสุข นั้น

           และในครั้งนี้โรงพยาบาลลำพูน เป็นหน่วยงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มีหน้าที่เป็นผู้จัดสรรอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการในพื้นที่จังหวัดลำพูน ได้ทำการผลิตและ จัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ให้แก่ผู้พิการดังกล่าว โดยแยกเป็น รถนั่งคนพิการแบบช่วยเหลือตนเองได้ ขนาดมาตรฐาน จำนวน 8 คัน รถนั่งคนพิการแบบช่วยเหลือตนเองได้ ขนาดใหญ่พิเศษ จำนวน 1 คัน รถนั่งคนพิการแบบขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าชนิดปรับเอนนอนได้ จำนวน 1 คัน เบาะรองนั่งป้องกันแผลกดทับ จำนวน 10 อัน หัวลากรถนั่งคนพิการแบบขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า จำนวน 7 อัน เครื่องยกย้ายคนพิการแบบไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง ขาเทียมระดับใต้เข่าระบบแกนใน และเท้าเทียมชนิดมีแรงส่ง จำนวน 2 ชุด ชุดอุปกรณ์เสริมข้อเข่า จำนวน 2 ชุด พื้นรองเท้าเทียมวิ่ง จำนวน 1 ชุด ตัวยึดขาเทียมวิ่งตอขา จำนวน 1 ชุด

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก