ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สสส.ครบ12ปีหมอประเวศชูต้นแบบ

วันที่ลงข่าว: 30/05/13

สสส.ครบ12ปีหมอประเวศชูต้นแบบองค์กรนวัตกรรมทางสังคม ภาคีเครือข่ายกว่า3,000คนร่วมแสดงพลัง 

   

ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ กว่า 300 องค์กร จัดเวที “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ในโอกาสการดำเนินงานของ สสส.ครบรอบ 12 ปี โดยมีผู้ร่วมงานจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน กว่า 3,000 คน

   

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถานำเรื่อง “นวัตกรรมทางสังคมกับการพัฒนาประเทศ”ว่า การทำงานของ สสส. ใน 12 ปี ที่ผ่านมา เป็นการสร้างเครื่องมือที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมทางสังคม ทำให้เกิดพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง และสามารถแก้ไขการบริหารแบบแนวดิ่ง 

   

ทั้งนี้ หากสังคมเข้มแข็ง จะเป็นตัวนำให้การเมืองดี ศีลธรรมดี และเศรษฐกิจดี โดยไม่ว่าจะเป็นอำนาจอะไร เช่น อำนาจทางการเมือง ถ้าอยู่ท่ามกลางสังคมที่เข้มแข็ง มีความเป็นพลเมืองสูง อำนาจก็จะถูกตรวจสอบ ทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องอยู่ในร่องในรอย สังคมเข้มแข็งจึงเป็นปัจจัยให้การเมืองดี ศีลธรรมดี และเศรษฐกิจดี

 อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้สังคมอ่อนแอ ผู้คนขาดจิตสำนึก แห่งความเป็นพลเมือง ตัวใครตัวมัน อำนาจต่างๆ ในสังคมก็จะไม่ถูกตรวจสอบ และสามารถทำตามอำเภอใจได้มาก การเมืองจึงไม่ดี ศีลธรรมจึงไม่ดี เศรษฐกิจ จึงไม่ดี เมื่อปัจจัยชี้ขาดอนาคตของการพัฒนาประเทศอยู่ที่สังคมเข้มแข็ง นวัตกรรมทางสังคม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสังคมที่เข้มแข็ง จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องที่ทำได้ยากไปได้ และกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้คนร่วมคิดร่วมทำด้วยกันก็จะพาให้สังคมนั้นดีขึ้น

  

ด้าน ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการประเมินผลการดำเนินงาน สสส.กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บนฐานของการติดตามประเมินผล  1 ทศวรรษของ สสส." ว่า การทำงานของ สสส.ตลอดเวลาที่ผ่านมามีจุดประสงค์ที่จะสร้างวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีแผนการดำเนินงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ด้วยความหลากหลายทั้งพื้นที่ กลุ่มอายุ ทำให้เกิดพหุภาคี ชุมชน และองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน 

   

ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่า การทำงานของ สสส.ที่ประสบผลสำเร็จและส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนอย่างสูง อาทิ การลดลงของอัตราการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อีกมากที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาวะสังคม เช่น ด้านการศึกษา การสื่อสารสาธารณะ และการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นต้นแบบสำหรับเครือข่ายการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้ การประเมินผลการทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การประเมินผลและการพัฒนาศักยภาพจะผลักดันให้ สสส. ก้าวไปข้างหน้าด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและรับผิดชอบ

   

ทั้งนี้ ภายในงานจะมีเวทีการแสดงทรรศนะของนักวิชาการสาธารณสุขทั้งไทย และต่างชาติ  และตลาดนัดแห่งแรงบันดาลใจ หรือ Market Place จากภาคีเครือข่ายกว่า 300 องค์กร อาทิ ห้องเรียนความมืด เพื่อให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตา, โรงภาพยนตร์แห่งแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดเรื่องราวทางสังคมจากคนทุกกลุ่ม

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก