ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สื่อโทรทัศน์ไทยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันที่ลงข่าว: 09/04/24

           เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แวดวงคนพิการทางการเห็นได้สูญเสียบุคคลสำคัญคือ “มณเฑียร บุญตัน” สมาชิกวุฒิสภาและอดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้ผลักดันสิทธิและสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ

          คุณมณเฑียร เป็นผู้แทนคนพิการคนแรกในประเทศไทยและคนแรกในอาเซียนที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (UN-Committee Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ระหว่างปี 2556-2559 

          สิ่งที่พยายามผลักดันมาโดยตลอด คือสิทธิคนพิการในมิติต่างๆ รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามสถานการณ์สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ของคนพิการทางการเห็นในประเทศไทย

คนพิการกับสิทธิในการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์

          สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะบริการโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดิน ซึ่งคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติที่ทุกคนพึงมีสิทธิในการเข้าถึง และรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมหรือกำหนดแนวทางเพื่อลดทอนข้อจำกัดอันเกิดจากเงื่อนไขทางกายภาพ 

          ในบริบทกิจการโทรทัศน์ไทยมีระเบียบกฎหมายรองรับในประเด็นนี้คือ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ที่ระบุให้สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องให้บริการ 

          (1) ล่ามภาษามือ (Sign Language : SL) หรือจอล่ามคือการสื่อสารผ่านท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกาย และการแสดงออกทางสีหน้าที่สื่อถึงข้อความบางอย่าง

          (2) คำบรรยายแทนเสียง (Closed Captioning : CC) หรือแถบตัวอักษรที่แสดงข้อความบทสนทนาและเสียงต่างๆ ในรายการ สำหรับคนพิการทางการได้ยิน และ

          (3) เสียงบรรยายภาพ (Audio Description : AD) หรือเสียงบรรยายระหว่างบทสนทนาเพื่อสร้างความเข้าใจและอรรถรสจากข้อจำกัดทางการมองเห็น สำหรับคนพิการทางการเห็น

กฎหมายเคลื่อนแต่สวนทางกับการปฏิบัติ

          แม้กฎหมายจะขับเคลื่อนไป แต่ในทางปฏิบัตินั้น การให้บริการเพื่อการเข้าถึงรายการโทรทัศน์สำหรับคนพิการยังมีปริมาณน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเพื่อการเข้าถึงสื่อสำหรับคนพิการทางการเห็นหรือ AD จากการสำรวจพบปัญหาในการให้บริการ AD ในประเทศไทย 2 ประการ

          1.ปัญหาด้านการเข้าถึง (accessibility) บริการ AD มีน้อย สถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่ผลิตเสียงบรรยายภาพตามปริมาณขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น คือ 60 นาทีต่อวัน และออกอากาศในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่ออกอากาศใน ช่วงเวลา 00.00-05.00 น. 2.ปัญหาด้านการใช้งาน (usability) กล่าวคือ อุปกรณ์เพื่อการเข้าถึง AD มีความซับซ้อน ยากต่อการใช้งาน 

          นอกจากนี้รายการโทรทัศน์ที่ให้บริการ AD ยังขาดความหลากหลาย บริการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มรายการประเภทสารประโยชน์จำพวกข่าวหรือสารคดี มากกว่ารายการบันเทิงอย่างละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์

          ซึ่งปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์ทั้งหลายสะท้อนความเห็นแก่หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. คือปัญหาต้นทุนการผลิตเสียงบรรยายภาพ หรือ AD ที่ค่อนข้างสูง

          ดังจะเห็นได้จากข้อมูลงานวิจัยของจุฑารัตน์ กลิ่นค้างพลู (2016) เรื่อง "การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลการจัดทำบริการเสียงบรรยายภาพในรายการโทรทัศน์สำหรับคนพิการทางการเห็น : กรณีศึกษาประเภทรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์และประเภทรายการบันเทิง" พบว่าประเภทรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ และประเภทรายการบันเทิงมีต้นทุนในการจัดทำบริการเสียงบรรยายภาพ เท่ากับ 16,250 และ 17,500 บาทต่อรายการออกอากาศ 1 ชั่วโมง (ตามลำดับ)

เทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิต

          ปัญหาต้นทุนการผลิตเป็นปัญหาที่หลายประเทศเผชิญร่วมกัน โดยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น นิวซีแลนด์ อังกฤษ หรืออีกหลายประเทศในยุโรปมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการผลิต AD เพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ซอฟต์แวร์ Scribit.Pro หรือ ADept ซึ่งช่วยให้สามารถผลิต AD ได้ในปริมาณที่มากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ใช้คนน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต AD จากแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ถูกลงเมื่อเทียบกับการผลิตโดยไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน 

          ในบริบทประเทศไทยมีการพัฒนาแอปพลิเคชันโวหาร (VOHAN) สนับสนุนการผลิต AD โดยบริษัท กล่องดินสอ จำกัด องค์กรที่มีเป้าหมายพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม แม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้นำเอาแอปพลิเคชันดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากนัก

          แต่เชื่อว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการผลิตนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต AD สำหรับผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

          แม้ปัจจุบัน คนพิการหลายคนจะใช้บริการสื่ออินเทอร์เน็ตมากกว่าสื่อโทรทัศน์ และไม่ว่าสื่อโทรทัศน์จะอยู่ในฐานะทางเลือกหลักหรือรองของคนพิการ การลงทุนผลิตบริการเพื่อการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความเท่าเทียม และสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงให้กับคนพิการในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม 

          กสทช. สถานีโทรทัศน์ที่รับใบอนุญาต และผู้ผลิตรายการ จึงควรจับมือร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพิการทางสายตาในสังคมไทย ไม่ได้ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังแต่อย่างใด.

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก