ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บัตรทองเพิ่ม "เท้าเทียมไดนามิก" เข้าสิทธิช่วย “ผู้พิการขาขาด”

วันที่ลงข่าว: 03/04/24

           บอร์ด สปสช. ยกระดับคุณภาพชีวิต “ผู้พิการขาขาด” เห็นชอบเพิ่ม “เท้าเทียมไดนามิกจากบัญชีนวัตกรรมไทย” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ช่วยให้การเดินมีความสะดวก ขยับได้คล้ายเท้าปกติ พร้อมประสาน TCELS. ติดตามประเมินผลการใช้เท้าเทียมไดนามิก ระบุ เตรียมเดินหน้าสู่กลไกต่อรองราคา หลังพร้อมให้บริการ สปสช. จะประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนรับทราบต่อไป

          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ได้มีประชุมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ “อุปกรณ์เท้าเทียมไดนามิกในบัญชีนวัตกรรมไทย” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการขาขาด นำเสนอโดย เสนอโดย รศ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข

          ทั้งนี้เนื่องจากเท้าเทียมที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเท้าเทียมที่มีโครงสร้างเป็นไม้หุ้มยางแบบไม่มีข้อเท้า หรือที่เรียกกันว่าประเภท solid ankle heel (SACH) foot โดยเท้าเทียมประเภทนี้ด้วยโครงสร้างและวัสดุจะทำให้การเดินไม่เป็นธรรมชาติ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในปี 2565 ผู้พิการขาขาดมีมากกว่า 4.7 หมื่นคน นั่นหมายความผู้พิการในจำนวนนี้ที่ได้รับบริการขาเทียมไปอาจประสบกับภาวะดังกล่าวอยู่

          ทว่า ก่อนหน้านี้การจะเปลี่ยนขาและเท้าเทียมให้เป็นชนิดคาร์บอนไฟเบอร์ไดนามิกที่จะช่วยให้ผู้พิการเดินได้สะดวกเป็นธรรมชาติมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาที่สูงมาก อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในช่วงที่ผ่านมาทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาทดลองจนผลิตขึ้นมาได้เอง และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะกลายเป็นข้อเสนอในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท หรือ ยูซีบีพี (UCBP) และทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้มีการสนับสนุนให้ทางคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาประเมินความเป็นไปได้ในการให้บริการและภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

         “อุปกรณ์ตัวนี้จะเข้ามาช่วยให้ผู้พิการขาขาดหรือเท้าขาดสามารถเดินเหินได้เหมือนปกติ รวมถึงในการซ่อมบำรุงก็ไม่ได้ต่างจากอุปกรณ์เก่า สามารถบำรุงได้เหมือนเดิมตามวงรอบ โดยอายุการใช้งานยาวกว่าของที่ผลิตในต่างประเทศด้วย ที่สำคัญคือเป็นนวัตกรรมของคนไทยเราเอง เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศของเรา” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

          นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสริมว่า จากการคาดการณ์ภาระทางงบประมาณพบว่า ต่อปีงบประมาณจะมีผู้ได้รับบริการเท้าเทียมไดนามิกประมาณ 800 ชิ้น รวมเป็นงบประมาณราว 18.68 ล้านบาท หลังจากนี้ สปสช. ก็จะนำเรื่องเข้าสู่กลไกการต่อรองราคา เพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่เหมาะสม รวมถึงประสานกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS. ในการติดตามประเมินผลการใช้เท้าเทียมไดนามิก หลังจากได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง 30 บาท เพื่อนำผลการประเมินไปสนับสนุนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการผลิตเท้าเทียมไดนามิก ซึ่ง สปสช. มีคณะอนุกรรมการสำหรับติดตามนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ภายหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ สปสช. จะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก