ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แปลงผักสลัด ฝึกทักษะน้องๆ

วันที่ลงข่าว: 02/04/24

         ใครจะรู้ว่าผักสลัดหนึ่งต้นจะมีความหมายกับน้องๆ ผู้บกพร่องทางสติปัญญาในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล (บางพูน) จ.ปทุมธานี มากกว่าการเป็นผักคุณภาพดี ปลอดภัย รับประทานอร่อย

          เพราะนี่คือผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการปลูกผักที่ทำให้น้องๆ ได้ฝึกการดำรงชีวิต ทักษะอาชีพ เพื่อลดภาระของครอบครัว

“การปลูกผักอาจจะดูง่ายสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญาเป็นเรื่องที่ยากมาก” น.ส.วรรณนภา เปรมปรีดา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล (บางพูน) จ.ปทุมธานี บอกเล่า

         “ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล (บางพูน) จะรับดูแลผู้บกพร่องทางสติปัญญา วัยรุ่น อายุตั้งแต่ 15-35 ปี ด้วยกระบวนการพยาบาลและโปรแกรมบางพูนโมเดลที่พัฒนาขึ้นเพื่อฝึกทักษะต่างๆ ให้น้องๆ มีศักยภาพในการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว”

          กิจกรรมปลูกผักนับเป็นโมเดลที่ศูนย์นำมาใช้ฝึกทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมและส่งต่อน้องๆ กลุ่มนี้เข้าระบบการทำงานตามมาตรา 33 หรือมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งจะทำให้พวกเขามีอาชีพและรายได้ เรียกโมเดลนี้ว่า “บางพูนโมเดล” ซึ่งมีบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS สนับสนุนเทคโนโลยีการปลูกผักด้วย AIS iFarm และโก โฮลเซลล์ (GO Wholesale) เข้ามาช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในการปลูกผักสลัดที่ตลาดมีความต้องการ พร้อมรับซื้อผลผลิตมาจำหน่ายยังสาขา

        “เราจะฝึกทักษะให้น้องๆ สามารถดำรงชีวิตขั้นซับซ้อน เช่น การหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า ซักผ้าด้วยเครื่อง การใช้เงินซื้อของ กวาดพื้น ถูพื้น เพื่อให้น้องๆ ฝึกการใช้ชีวิตประจำวันกับครอบครัว ควบคู่ไปกับการปลูกผักสลัดซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างสมาธิ ทำให้น้องๆ จดจ่ออยู่กับงานที่ทำ มีความอดทน เป็นการเตรียมทักษะพื้นฐานการทำงาน”

หัวใจสำคัญของการฝึกทักษะของบางพูนโมเดลคือ “การทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ” จนกระทั่งน้องๆ เกิดความเข้าใจและรับรู้ว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ และเมื่อพวกเขาออกไปใช้ชีวิตภายนอกพวกเขาก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองไม่เป็นภาระของครอบครัว

         น้องๆ ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล (บางพูน) จะลงมือปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่การเพาะเมล็ดผักสลัด อาทิ ฟินเลย์ กรีนคอส กรีนโอ๊ก นำต้นกล้าลงแปลงปลูก รดน้ำ เก็บล้างทำความสะอาดและบรรจุถุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญา และเมื่อเขาทำได้ น้องๆ จะเกิดความภาคภูมิใจในการทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ

น.ส.วรรณนภากล่าวอีกว่า “หลังจากเก็บผักสลัดแล้ว น้องๆ จะมาช่วยกันแพ็กผักใส่ถุง แปะสติ๊กเกอร์สีเหลืองบางพูน โมเดล และแช่ตู้เย็นไว้ เตรียมส่งให้กับทางโก โฮลเซลล์ สัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 100 ถุง หรือเฉลี่ย 20-30 กิโลกรัมต่อครั้ง แม้จะไม่มากแต่นี่คือโอกาสสำคัญของเด็กๆ กลุ่มนี้”

         ผักสลัดทุกถุงของน้องๆ จากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพราชานุกูล (บางพูน) จังหวัดปทุมธานี วางจำหน่ายที่แผนกผักสด ณ “โก โฮลเซลล์ สาขารังสิต” ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนนี้เป็นต้นไป สังเกตสติ๊กเกอร์สีเหลืองลวดลายการ์ตูนเด็ก พิมพ์ “บางพูน เกษตรปลอดภัย By Bangpoon Model” เป็นสัญลักษณ์

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก