ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รมว.พม. พร้อมส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ศรส. ลงพื้นที่ช่วยปชช. เร่งขยายให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วไทยย้ำพบปัญหาสังคม กด ฮอตไลน์ 1300

วันที่ลงข่าว: 08/01/24

          ที่กระทรวงพม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวการเปิดศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ Human Security Emergency Management Center : HuSEC ทั่วประเทศ

เพื่อปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เข้าคุ้มครองช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรณีวิกฤตอย่างทันท่วงที ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

          นายวราวุธ กล่าวว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC ได้เริ่มปฏิบัติการคุ้มครองช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ วันที่ 31 ธ.ค. 66 ศรส. ได้รับแจ้งเหตุในทุกช่องทางรวมทั้งสิ้น 24,369 กรณี

โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ปัญหารายได้และความเป็นอยู่ รองลงมาคือ ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน ปัญหาการใช้ความรุนแรง และปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว ทั้งนี้ ศรส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนเสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 20,000 กรณี และอยู่ระหว่างกระบวนการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหรือที่ยังต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3,633 กรณี

           ซึ่งเห็นได้ว่า ตลอดระยะ 2 เดือนที่ ศรส. เริ่มปฏิบัติการเร่งรัด-จัดการ ปัญหาพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม

           กระทรวง พม. ได้เร่งรัด-จัดการ ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมี ผู้บริหารระดับสูง ระดับรองอธิบดี เป็นผู้กำกับติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงาน พม. ส่วนภูมิภาค อีกทั้ง ศรส. ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยสามารถติดตามการช่วยเหลือได้ทุกขั้นตอนผ่านระบบ E – tracking เพียงใช้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชน

          ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจาก ศรส. ผ่าน Hotline 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราจะส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลงพื้นที่คุ้มครองช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์

          นายวราวุธ กล่าวว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา ทางกระทรวง พม. ได้ทดลองการทำงานของ ศรส. ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ศูนย์นี้แสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ของกระทรวง พม. เป็นการบูรณาการทุกหน่วยงานของกระทรวง ทั้งเรื่องเด็ก เยาวชน สตรีและสถาบันครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และเรื่องรายได้

          โดยได้รับการร้องเรียนเกือบ 25,000 เรื่อง จนถึงวันนี้ เราได้ดำเนินการแก้ไขจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้วกว่า 20,000 เรื่อง ตอนนี้ ยังเหลืออีกกว่า 3,600 เรื่องนั้น กำลังแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอยู่ และที่สำคัญนั้น จะไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวคือไม่ใช่รับเรื่องร้องเรียนทางเดียว แต่ว่าจะเป็นการสื่อกลับไปยังประชาชน

โดยที่ผู้ที่ร้องเรียนเข้ามานั้น สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้แต่หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการติดตามเรื่องที่ท่านร้องเรียนเข้ามา ว่าวันนี้ได้มีการดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว และได้แก้ไขปัญหาหรือไม่ ซึ่งในวันนี้ เราจะขยายการทำงานของ ศรส. ที่ทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง

          โดยจะขยายให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่มีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นศูนย์กลางของ ศรส. ในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปบูรณาการการทำงานในพื้นที่

          แต่ขอย้ำว่า ศรส. จะไม่มีการนำข่าวเคสแต่ละเคสมาออกข่าวบนหน้าจอทีวี ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่จะไม่สามารถเปิดเผยหน้าเคสออกทีวีได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงจะต้องปกป้องทั้งร่างกายและจิตใจของเคส

          ดังนั้น ตนดีใจที่ได้เห็นการขยายการทำงานของ ศรส. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเป็นกำลังสำคัญและเป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องภายในครอบครัวและปัญหาทางสังคมอีกหลาย ๆ ประเด็น

          นายวราวุธ กล่าวว่า ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เรื่องค่าครองชีพเป็นเรื่องที่มีการแจ้งเข้ามามากที่สุด รวมไปถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา มีการเยียวยาทั้งกายและจิตใจ หากมีความเดือดร้อนเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัย จะมีงบประมาณในการเข้าไปซ่อมแซมบ้าน

          ในขณะเดียวกัน บ้านที่ประสบภัย เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เรามีทีมสหวิชาชีพเข้าไปเยียวยาจิตใจ และทำกิจกรรมเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดให้กับพี่น้องประชาชน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของ ศรส. ขอให้มั่นใจว่า เราจะดำเนินการได้ เพราะมีบุคลากรที่พร้อมทำงานทั้ง 76 จังหวัด

          โดยขอให้ พมจ. เป็นแกนหลักของจังหวัด และบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทั้งหมด เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่มีการแบ่งภารกิจของกรม ภายใต้ ทีม พม.หนึ่งเดียว โดยมีรองปลัดกระทรวง พม. เป็นเซ็นเตอร์ของ ศรส.

          นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการทำงานของ ศรส. ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน (A – R – M – O – R) ได้แก่ 1) A – Alert: แจ้งเหตุผู้ประสบปัญหาในภาวะวิกฤต ผู้พบเห็นเหตุการณ์ฉุกเฉินทางสังคม หรือประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเหตุผ่านช่องทาง

          1. ฮอตไลน์ 1300

          2. Line OA ที่ @hotline1300 และ @esshelpme

          3. เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 4. youtube ช่อง HUSEC ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน

          2) R – Rapidity: เร่งรัด ส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Response Unit: RRU) เพื่อให้การคุ้มครองช่วยเหลือเฉพาะหน้าตลอด 24 ชั่วโมง

          3) M – Management: จัดการ ศรส. คุ้มครองช่วยเหลือ หรือส่งต่อ โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานตามความเร่งด่วน ด้วยการแบ่งระดับความรุนแรงของกรณี/เหตุการณ์

          4) O – Oversight: ติดตามผู้ประสบปัญหาทุกกรณี โดยสามารถติดตามสถานการณ์ให้ความช่วยเหลือผ่านระบบ E-Tracking โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการตรวจสอบ

และ 5) R – Raising Awareness : สร้างความตระหนักรู้ในสังคม สื่อสารประชาสัมพันธ์สถานการณ์ทางสังคมเชิงรุก เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ทางสังคม ไม่นิ่งเฉย ไม่ละเลย และมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181