ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เร่งผลิตครูพิเศษสอนน.ร.พิการ

วันที่ลงข่าว: 05/10/23

          ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 3 ต.ค. น.ส.ศุภร คุ้มวงศ์ รองผอ.สำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สนศ. มีโรงเรียนเปิดให้เด็กพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติ 158 โรงเรียน จากทั้งหมด 437 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 45 เขต มีบางเขตในพื้นที่กรุงเทพชั้นในยังไม่ได้เปิดรับ เนื่องจากมีนักเรียนน้อย และอยู่ระหว่างขยายปรับปรุงให้ครบทั้ง 50 เขต

          น.ส.ศุภรกล่าวว่า กทม.มีจุดประสงค์เปิดรับผู้พิการทุกประเภท ตามนโยบายไม่ปฏิเสธนักเรียน แต่ปัจจุบันผู้พิการส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนคือประเภทออทิสติก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ปกครองด้วยว่า ความพิการของบุตรหลานเหมาะสมหรือไม่กับโรงเรียนในสังกัดกทม.ที่มีจัดการเรียนการสอนอยู่

          น.ส.ศุภรกล่าวต่อว่า ในจำนวน 158 โรงเรียน มีครูการศึกษาพิเศษที่จบมาโดยตรงไม่เพียงพอ หรือประมาณปีละ 20 คน เนื่องจากปัจจุบันครูเรียนจบด้านนี้โดยตรงมีจำนวนน้อยลงมาก กทม.จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดอบรมครูภาคปกติในหมวดวิชาต่างๆ เพื่อให้มีทักษะครูสอนการศึกษาพิเศษควบคู่ไปด้วย พร้อมออกใบรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อผ่านการอบรมประมาณ 200 ชั่วโมง ซึ่งครูที่ผ่านการอบรมจะมีสิทธิรับค่าตอบแทนเพิ่มตามเกณฑ์กำหนด ครู 1 คนต่อการสอนนักเรียนพิเศษ 6 คนขึ้นไป ซึ่งการอบรมมีความสำคัญ เพราะครูแต่ละวิชาต้องสอนนักเรียนพิการร่วมกับนักเรียนปกติอยู่แล้ว

          สำหรับภายในปีนี้ กทม.จะเริ่มดำเนินโครงการ ครูทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาครูการศึกษาพิเศษขาดแคลน ซึ่งจะอาศัยครูการศึกษาพิเศษที่เรียนจบมาโดยตรงอย่างเดียวไม่ได้ รวมถึง จะมอบหน้าที่ทั้งหมดเกี่ยวกับการสอนผู้พิการให้ครูการศึกษาพิเศษที่มีอยู่ในโรงเรียนไม่ได้ จึงต้องอบรมครูหมวดอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้การเรียนร่วมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          น.ส.ศุภรกล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ดำเนินการเรื่องนี้มานาน และมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเรื่อยมา โดยปี 2565 ได้จัดฝึกอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องการดูแลนักเรียนพิการให้กับผู้อำนวยการทั้ง 158 โรงเรียน เน้นการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนอยู่ร่วมกัน หากผู้บริหาร ครู บุคลากรมีความเข้าใจ ดูแลเอาใจใส่ นักเรียนจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา

          ส่วนเรื่องการปรับปรุงด้านกายภาพของโรงเรียนเพื่อรองรับนักเรียนพิการ น.ส.ศุภรกล่าวว่า ปัจจุบันดำเนินการไปตามนักเรียนที่มีอยู่ในแต่ละโรงเรียน เนื่องจากนักเรียนพิการที่เข้ามาเรียนร่วมส่วนใหญ่เป็นประเภทออทิสติก เรียนรู้ช้า

          ขณะที่ความพิการด้านร่างกายภายนอก น.ส.ศุภรกล่าวว่า ยังไม่พบปัญหาเรื่องการมาโรงเรียนและการเข้าเรียน อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 มีแผนปรับปรุงห้องน้ำใน 158 โรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนพิการมากขึ้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก