ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สสส. หนุนนวัตกรรมสร้างอาชีพ เสริมกิจกรรมสร้างสุข ปลุกพลังผู้พิการเชียงใหม่

วันที่ลงข่าว: 02/10/23

          เมื่อบรรทัดฐานสังคมไทยเชื่อว่า "ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน" สะท้อนถึงการยอมรับในคุณค่าของมนุษย์ด้วยการทำงาน "ผู้พิการ" ก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน เมื่องานคือเครื่องมือวัด "ความสุข" พวกเขาเองก็อยากถูกวัดคุณค่าด้วย "ความสามารถ" ผ่านการมีหน้าที่การงานไม่ต่างจากคนทั่วไป งานคือส่วนเสริมสถานภาพ "ความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง" ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและสะท้อนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

วันสร้างสุขผู้พิการเชียงใหม่

          ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการวัยทำงาน ที่อายุระหว่าง 15-60 ปี เพียง 27% เท่านั้นที่มีงานทำ แต่อีกกว่า 56% หรือมากกว่าสี่แสนคนยังไม่มีงาน แม้ว่าผู้พิการบางรายนั้นอาจจะเป็น "หัวหน้าครอบครัว" ก็ตาม

"เชียงใหม่" นับเป็นอีกหัวเมืองสำคัญของภูมิภาคเหนือ ที่กำลังเป็นอีกเมืองสนับสนุนให้ผู้พิการมีโอกาส งาน และมีส่วนร่วมทางสังคมมากขึ้น โดยล่าสุด สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เชียงใหม่ เปิดงาน "วันสร้างสุข เสริมสร้างสุขภาวะสำหรับคนพิการเชียงใหม่" ภายใต้โครงการการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับผู้พิการผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ 

          จิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ ผู้พิการ ปัจจุบันในจังหวัดเชียงใหม่ว่ามีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนและได้รับบัตรผู้พิการแล้ว จำนวน 56,339 คน คิดเป็น 3.14% ของประชากรทั้งหมดในจังหวัดมากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ 

          "จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้พิการมากสุดในภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการสูงอายุ เนื่องจากเชียงใหม่เข้าสู่ สังคมสูงอายุ นอกจากนี้ยังมีผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวจำนวนเยอะสุด รองลงมาเป็นผู้พิการทางด้านการได้ยินและสื่อความหมายและอันดับต่อมาคือผู้พิการด้านจิตใจ แต่สถานการณ์สถิติผู้พิการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากผู้สูงอายุที่เปลี่ยนเป็นผู้พิการก็มีจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันผู้พิการที่ต้องการอาชีพก็มีมากขึ้น อยากให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการจ้างงาน"

          จิราพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้พิการเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างเสริมสุขภาวะในทุกมิติ สื่อสารงานเชิงประเด็นต่างๆ ของ สสส. ด้วยการแปลงความรู้ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ผสมผสานรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย นำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นไปตามภารกิจของ พมจ.เชียงใหม่ ที่มุ่งสร้างสังคมแห่งความสุขร่วมกัน ปรับเจตคติเปลี่ยนความเชื่อจาก "ผู้พิการเป็นภาระ สู่การเป็นพลัง" จึงพัฒนารูปแบบการดำเนินงานให้ผู้พิการ และครอบครัวเข้าถึงบริการสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ สร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้ผู้พิการได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่ม สสส. กล่าวว่า วันสร้างสุข เสริมสร้างสุขภาวะสำหรับผู้พิการ เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้พิการ มีกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น มีผู้พิการเข้าร่วมกว่า 250 คน เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับผู้พิการผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตในทุกมิติ นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ มีทักษะการรู้เท่าทัน ยกสถานะทางสังคมของผู้พิการ และได้แนวคิดแรงบันดาลใจในการปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาวะแก่ผู้พิการ และสังคมรอบข้าง โดยที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญกับผู้พิการอย่างต่อเนื่อง มุ่งสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตทุกมิติ ตั้งแต่ทักษะการทำงาน การดูแลสุขภาพตนเอง การบริหารด้านการเงิน

          "หลายปีที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้พิการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ กิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ 70 วันมหัศจรรย์ของฉัน งานวิ่งด้วยกันมีผู้พิการ และคนไม่พิการเข้าร่วมกว่า 3,000 คน เกิดเครือข่ายวิ่งด้วยกันในต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง และสิงคโปร์ สำหรับกิจกรรม วันสร้างสุข เสริมสร้างสุขภาวะสำหรับคนพิการ มุ่งสู่การสร้างทักษะชีวิต เช่น กิจกรรมค้นหาตัวตน โดยใช้กระบวนการศิลปะบำบัด การใช้สมาร์ตโฟนสร้างอาชีพ โปรโมตสินค้าออนไลน์ ถ่ายภาพ พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะประจำเดือน เพื่อให้ผู้พิการ และครอบครัวสามารถร่วมเรียนรู้ ร่วมปฏิบัติ สามารถนำไปต่อยอดปรับใช้ในชีวิตของตัวเองได้ โดยจัดไปแล้วรวม 20 ครั้ง มีจำนวนผู้พิการ และครอบครัวเข้าร่วมประมาณ 817 คน" ภรณี กล่าว

นวัตกรรม "พิการมีงานทำ" สู่ชุมชน

          ปัญหาดังกล่าวได้รับการปลดล็อกในปี 2558 เมื่อมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ได้นำร่องร่วมกับบริษัท 88 แห่ง จ้างงานผู้พิการเพื่อทำงานในชุมชนและส่งเสริมอาชีพผู้พิการกว่า 1,277 คนทั่วประเทศ เป็นการทดแทนการนำเงินส่งเข้ากองทุน ส่งผลให้เม็ดเงินกว่า 120 ล้านบาท ไปถึงมือผู้พิการโดยตรงผ่านการทำงานและประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทชีวิตในภูมิลำเนาของผู้พิการ

          จากจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมทางสังคมในวันนั้น ก่อให้เกิดการจ้างงานผู้พิการเพื่อทำงานในชุมชนและส่งเสริมอาชีพมากมายหลายพื้นที่ในประเทศไทย หนึ่งในภารกิจสำคัญ สสส. ยังส่งเสริมการก่อตั้งโหนด (Node) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการอีก 3,000 กว่าแห่งในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. และ รพสต. รวมถึงภาคี โดยคาดหวังเป็นการสร้างการตื่นตัวและทำความเข้าใจการจ้างงานผู้พิการที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกำลังขยายผลสู่การเป็น "ศูนย์บริการผู้พิการ" ที่จะเป็นจุดสำคัญในการทำหน้าที่ฟื้นฟู และส่งเสริมความพร้อมผู้พิการในการจะเข้าสู่ระบบการทำงานต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย Soft Skills และ Hard Skills โดยอีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบที่มีการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ยังเกิดขึ้นที่ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

          มัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพญาชมภู ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เผยถึงที่มาการขับเคลื่อนว่า สสส. ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องด้านการพัฒนากลไก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการในพื้นที่ตำบลชมภูตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ผ่านการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ : บูรณาการและยกระดับกลไกขับเคลื่อนการเข้าถึงโอกาสงานและอาชีพของคนพิการให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและยกระดับให้ผู้พิการที่ได้รับการจ้างงานและการประกอบอาชีพ มีศักยภาพ มีสุขภาวะ สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและพึ่งพาตนเองได้

          มัลลิกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการยื่นเพื่อจัดสร้างศูนย์บริการผู้พิการลำดับแรกต้องมีการก่อตั้งชมรม สำหรับที่นี่มี "ชมรมชมภูม่วนใจ๋ ชมรมคนพิการ" เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากลไกศูนย์พัฒนาผู้พิการให้มีสมรรถนะ ที่ยังได้เครื่องมือของธนาคารเวลามาใช้เป็นกลไกหนุนเสริมในการทำงานเสริม

          "เมื่อก่อนผู้พิการถูกเก็บแอบเอาไว้ในบ้าน บางรายญาติเอาไปซ่อน มองว่าคือความอับอายของครอบครัว ไหนจะมองว่ารูปลักษณ์ การขับถ่ายที่ทำให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ บางรายถูกเก็บตัวอยู่คนเดียวจนทำร้ายตัวเองมีปัญหาทางจิต เคสแรกที่เราเจอคือ เขาขาดยา ญาติปล่อยไว้ไม่มีเสื้อผ้าใส่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องถึงมือเราแล้ว คนที่เป็นแกนนำในหมู่บ้านชุมชน ถ้าใครเข้าข่ายนิดหนึ่งเขาจะรีบมาบอกเราเลย ทุกคนคอยช่วยสอดส่อง" มัลลิกา กล่าว

          บ้านพญาชมภู ปัจจุบันในชุมชนเป็น สังคมผู้สูงวัย สมบูรณ์แบบ โดยมีผู้สูงอายุ 34.2% และผู้พิการ 4% เริ่มจ้างงานผู้พิการตั้งแต่ปี 2558 ได้รับการสนับสนุนอาชีพทุกปี เฉลี่ยปีละ 10 ราย ส่วนการจ้างงานปีที่ผ่านมามี 6 ราย แต่ละปีมีการจ้างประเภทงานแตกต่างกัน ภายใต้ความรับผิดชอบโดย 3 หน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพญาชมภู ศูนย์บริการคนพิการ และโรงเรียนในเทศบาล ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานใดมีความขาดบุคลากรตำแหน่งใด อัตราใด

"ผู้พิการบางคนมีคุณสมบัติเป็นคนเก่งมีความสามารถมาก่อน เช่น ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านช่าง แต่พอพิการไม่มีใครจ้างงานเขา เลยทำให้ความสามารถของเขาไม่ได้ใช้" มัลลิกา กล่าว

          สำหรับในการคัดสรรผู้ได้รับทุนจะมีกระบวนการดำเนินการและวัดผลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หากยื่นขอประกอบอาชีพจะมีทีมงานลงไปดูพัฒนาให้มีศักยภาพ มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ ที่สำคัญมีพี่เลี้ยงพิการคอยประกบ เป็นระบบรายงาน

เสริมอาชีพคนพิการ สร้างพี่เลี้ยงในชุมชน

          กระบวนการนี้ไม่เพียงสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ผู้พิการ ยังเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อผู้พิการสามารถหาแหล่งเงินทุนและสร้างรายได้แก่ครอบครัว นำมาซึ่งการยอมรับความภาคภูมิใจและมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตมากขึ้น

          อนันต์ แสงบุญ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ตำบลชมภู จังหวัดเชียงใหม่ หรือพ่อหลวงอนันต์ กล่าวถึงการสร้างกลไกพี่เลี้ยงจิตอาสาผู้พิการเพื่อส่งเสริมอาชีพผู้พิการในโครงการว่า คำว่าพี่เลี้ยงมีความจำเป็นต่อการดำเนินงาน ผู้พิการเดิมมีภาระหนี้สิน จะฟื้นฟูให้เขากลับมาอีกครั้งจำเป็นที่ต้องมีคนคอยทำหน้าที่ดูแลประคับประคองและเป็นกำลังใจให้ผู้พิการฝ่าฟันผ่านไปได้ ช่วยให้ผู้พิการมีขวัญกำลังใจ และยังช่วยติดตามการทำงาน ที่สำคัญ ผู้พิการต้องถูกพัฒนาให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และดูแลตัวเอง เมื่อไหร่เขาลุกมาสู้ สังคมต้องให้ความช่วยเหลือ โดยการผลักดันของพี่เลี้ยงเหล่านี้ อีกประการ การเปิดโอกาสสื่อสารระหว่างคนทั่วไปกับผู้พิการ ทำให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวผู้พิการ และมีความเข้าใจ กลับมายอมรับผู้พิการ ทั้งระวังไม่ให้ตัวเองกลายเป็นผู้พิการในอนาคต

         "ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่เพียงเฉพาะผู้พิการที่ได้รับ แต่ยังส่งผลไปถึงทั้งครอบครัวและชุมชน พร้อมยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งลูกชายมีประวัติเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดแต่เมื่อพ่อเขาที่เป็นผู้พิการได้รับการสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ โดยซื้อวัวมาเลี้ยงสามตัว ลูกชายเห็นจึงเข้ามาช่วยพ่อ สุดท้ายก็กลับตัวกลับใจเป็นคนดี ช่วยพ่อทำมาหากิน ที่สำคัญที่สุดไม่ว่าคุณจะได้รับการประกอบอาชีพหรือได้รับการจ้างงานผู้พิการที่ต้องการสนับสนุนอาชีพมีอีกเยอะ ดังนั้น คนได้ก่อนเป็นรุ่นพี่ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ อย่าไปตัดโอกาสคนอื่น" พ่อหลวงอนันต์ กล่าว

         ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของการค้นหานวัตกรรมในชุมชน ที่จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการที่ชุมชนมีระบบการจัดการตัวเอง และโอบอุ้ม ผู้พิการ ในชุมชนให้พึ่งตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอรับบริการจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เช่นที่เกิดขึ้นกับตำบลชมภูแห่งนี้สามารถทำได้จริง

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก