ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สำนักพิมพ์ ‘ผีเสื้อปีกบาง’ เพื่อนักเขียนผู้พิการ สตาร์ตอัปจากยูธ-โคแล็บ

วันที่ลงข่าว: 21/07/23

          โจทย์จากแผนการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนของสหประชาชาติ กลายเป็นโมเดลส่งเสริมเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมเชิงสังคม ที่มีจิตสำนึกและให้ความสำคัญกับสังคมรอบข้าง และเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ยูธ โคแล็บ (Youth Co:Lab) ที่มีพื้นที่ปฏิบัติการในเอเชียแปซิฟิก เช่น ฟิลิปปินส์ มัลดีฟ เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน วานูอาตู หมู่เกาะโซโลมอน จีน และประเทศไทย เป็นต้น

โมเดลของโครงการฯ เริ่มจากการคัดกรองไอเดียทางธุรกิจบนฐานแนวคิดด้าน SDGs ของเยาวชน จากนั้นเข้าสู่กิจกรรมเวิร์กช็อปโดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม และธุรกิจ ที่มาคอยให้คำปรึกษากับทีมที่ผ่านเข้ารอบ 

          หลังจากนั้นโครงการฯ ได้คัดเลือก National Champion หรือทีมที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจให้ได้รับโอกาสในการนำเสนอผลงานของตนเองบนเวทีเสวนาระดับเอเชียแปซิฟิกอย่าง Youth Co:Lab Summit ที่มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงวิชา และค้นหาผู้ชนะเลิศจากทั่วทวีปเอเชียแปซิฟิก

สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง

          สโรชา กิตติสิริพันธุ์ หนึ่งในเยาวชนไทยในโครงการยูธ โคแล็บ ได้นำความรู้จากการเวิร์กช็อปมาปรับใช้กับธุรกิจ "สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง” ที่มุ่งมั่นจะทำหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของผู้พิการทางสายตาให้คนตาดีได้รับฟัง รับรู้ เปิดใจ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

          สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางก่อตั้งปี 2565 และเริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังเมื่อต้นปี 2566 เป็นกิจการในเครือสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่สร้างโอกาสให้ผู้พิการเขียนหนังสือสู้คนทั่วไปได้

          “สำนักพิมพ์ก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ทำให้มีโอกาสพบผู้พิการที่สามารถเขียนเรื่องราวได้ดี มีสตอรีที่จะถ่ายทอด มีต้นฉบับที่ดี ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการที่ได้รู้จักผู้พิการมากขึ้น จึงตอกย้ำความมุ่งมั่นที่ว่า สำนักพิมพ์นี้จะเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive Society) ขึ้นมาได้จริงๆ” สโรชา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง กล่าว

          การทำงานของสำนักพิมพ์เริ่มต้นจากการพัฒนาผู้พิการที่สนใจการเขียนให้มีทักษะ เมื่อสำนักพิมพ์เป็นผู้ดำเนินการและมีต้นฉบับที่ดี โดยมีองค์ประกอบอยู่ 2 ประการ คือต้องเป็นงานเขียนที่จรรโลงใจตามแบบฉบับผีเสื้อ และต้องเกี่ยวกับผู้พิการ ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นงานที่ผู้พิการเขียน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องราวของผู้พิการ หรือเป็นงานที่คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้พิการ

“กระบวนการผลิตหนังสือเพื่อผู้พิการที่เขียนโดยผู้พิการ ทางสำนักพิมพ์จะต้องหามีเดียใหม่ๆ สำหรับผู้พิการทางสายตาอาจจะเป็นหนังสือเสียง (Audio book) ส่วนผู้พิการอื่นๆ เช่น ผู้พิการทางการได้ยินต้องเป็นหนังสือที่ออกแบบโดยเฉพาะ แต่หากพูดถึงภาพรวมของสำนักพิมพ์แล้ว ก็ตั้งใจให้เป็นแหล่งหนังสือสำหรับผู้อ่านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือคนทั่วไป”

          สโรชาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเรียนได้เขียนหนังสือสามเล่ม ได้แก่ | จนกว่า | เด็กปิดตา | จะโต (2558), ก ไก่เดินทาง นิทานระบายสี (2559) และ เห็น (2562)

          จากนั้นได้ผันตัวมาเป็นบรรณาธิการฝึกหัด โดยเชื่อว่าผีเสื้อตัวใหม่นี้จะขับเคลื่อนวงการหนังสือได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ดีของความเท่าเทียมในสังคม

“ถ้ามีหนังสือเกี่ยวกับผู้พิการอยู่บนชั้น หรือแม้แต่มีหนังสือที่แทรกตัวหนังสืออักษรเบรลล์ลงไปหน้าสองหน้า จะสร้างความคุ้นเคยให้คนผู้อ่าน หากเป็นหนังสือเด็กก็จะปลูกฝังให้เด็กนั้นเติบโตมาโดยนึกถึงผู้พิการมากขึ้น 

          ต่อไปเขาอาจมีเพื่อนเป็นผู้พิการทางสายตา เขาก็จะไม่ตกใจ ไม่กลัวว่าจะสื่อสารกับเพื่อนอย่างไร แต่ที่ผ่านมามีความกลัวนี้อยู่ตลอด จึงหวังไว้ว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางจะสามารถสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้พิการกับคนในสังคมได้ โดยไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ”

 

ยูธ โคแล็บ เพื่อธุรกิจเยาวชน

          “เราไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจ ไม่มีความรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการ หรือนวัตกรรมเพื่อสังคมเลย จนได้เข้าร่วมกับโครงการยูธ โคแล็บทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ การทำงานเป็นทีม เช่นเดียวกับการวางแผน เตรียมตัว และการตั้งเป้าหมายสำหรับการทำธุรกิจ ที่สามารถนำมาใช้จริงเมื่อเริ่มทำสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง โดยไม่ได้กีดกันว่าเราเป็นคนตาบอด” สโรชา กล่าวถึงโครงการ

          โครงการยูธ โคแล็บ (Youth Co:Lab) ริเริ่มโดยมูลนิธิซิตี้ (City Foudation) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มุ่งผลักดันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถเข้าใจถึงธุรกิจ และสามารถทำมาสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเองจนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างยั่งยืน

          “ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีโอกาสเป็นผู้ประกอบการมักเป็นคนที่เข้าถึงการศึกษาและมีเม็ดเงินเพื่อลงทุน ขณะที่คนทุกกลุ่มควรมีโอกาสที่จะเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้น เราควรจะส่งเสริมให้คนจากหลากหลายกลุ่มมีโอกาสเป็นผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน” เรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทน UNDP ประเทศไทย กล่าว

 

แฟลกชิป Pathway to Progress

 

          ด้าน นฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงค์ ประเทศไทย และผู้แทนมูลนิธิซิตี้ (City Foudation) กล่าวว่า มูลนิธิซิตี้เป็นส่วนหนึ่งของการลดช่องว่างให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องราวของสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง ที่สามารถช่วยพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนได้

          Youth Co:Lab เป็นหนึ่งในแฟลกชิปของโครงการ Pathway to Progress ของซิตี้แบงค์ ที่ต้องการลดช่องว่าง และเพิ่มศักยภาพด้านทักษะให้กับเยาวชนที่ด้อยโอกาส หรือคนพิการที่ด้อยโอกาส เพื่อที่จะเสริมทักษะให้ตัวเอง 

"ทุกวันนี้เราเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงเยอะ เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก จุดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดช่องว่างตรงนั้น ให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น มีความสามารถ และมีทักษะที่พร้อมมากขึ้น” นฤมล กล่าว

 

 

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1079161

 

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1079161

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก