ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นักวิจัย ม.นครพนม เปิดเวทีเสวนาถอดบทเรียนการผลิตสื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็กพิการทางสติปัญญา 3 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง

วันที่ลงข่าว: 19/12/22

          มหาวิทยาลัยนครพนม จัดเวทีเสวนา และพิธีส่งมอบสื่อชุดกระตุ้นพัฒนาการ ในโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตสื่อเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และสร้างการเรียนรู้การใช้วิถีชีวิตใหม่สำหรับเด็กพิการแถบชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาวี อุดร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นประธาน มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานัวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม ณ ห้องล้านช้าง โรงแรมพักพิงอิงโขง อ.เมือง จ.นครพนม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

          ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตสื่อเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และสร้างการเรียนรู้การใช้วิถีชีวิตใหม่สำหรับเด็กพิการแถบชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเผยว่า โครงการ ฯ ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2564 ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาตนและทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลพบว่า เด็กพิการใน 3 จังหวัด แถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร มีโอกาสที่จะได้รับสื่อที่มีคุณภาพ หรือเรื่องราวและโอกาสชีวิตที่เด็กจะได้ออกสื่อหลักนั้นมีน้อย บวกกับเป็นปีแรกที่ทางตนและทีมคณะทำงานได้รับทุนสนับสนุน จึงจะใช้พื้นที่ 3 จังหวัดนี้ เป็นการดำเนินงานวิจัยในเฟสแรก หากมีโอกาสก็อาจจะขยับออกไปพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

          ผศ.ดร.เบญจยามาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ได้ทำงานร่วมกับสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม พบสถิติ มีเด็กที่พิการทางสติปัญญา (ดาวน์ซินโดรม) มากกว่าเด็กที่พิการทางสติปัญญาในกลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ที่ช้า หรือ Learning Disability : LD ซึ่งจริง ๆ แล้วในเด็กสองกลุ่มนี้เขามีศักยภาพ สามารถที่จะพัฒนาได้หากได้รับสื่อกระตุ้นสร้างการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสม โดยงานวิจัยครั้งนี้ทางทีมงานได้เลือกคัดเลือกเด็กผู้พิการทางสติปัญญาในช่วงประถมวัย เพราะเป็นช่วงระดับที่เขาสามารถเรียนรู้ได้มากถึง 300 กลุ่มตัวอย่าง ของพื้นที่ 3 จังหวัด เบื้องต้นได้ผลิตสื่อสารคดีเพื่อสื่อสารให้สังคมหรือผู้ปกครองได้ทราบถึงแนวปฏิบัติตัวกับเด็ก ๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงสร้างมุมมองและความเข้าใจที่ดีต่อเด็กผู้พิการทางสติปัญญาในสังคม นอกจากนี้ยังได้จัดทำคู่มือฉบับการ์ตูนที่น่ารักและอ่านง่าย มอบให้แก่ผู้ปกครองของเด็กในพื้นที่กลุ่มวิจัย เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กต่อไป

          ผศ.ดร.นาวี อุดร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า โครงการ ฯ ดังกล่าว หากมองในเชิงลึก สามารถต่อยอดได้อีกในหลายมิติ เชื่อว่าจะเป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์อย่างมากแก่ชุมชนและสังคม สิ่งอื่นใดนั้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันโครงการ ฯ ส่งต่อสื่อที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กพิเศษ หรือเด็กในกลุ่มเปราะบางให้เกิดเป็นวงกว้าง ยิ่งสังคมได้ประโยชน์มากเท่าไหร่ ทางมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในด้านองค์ความรู้วิชาการ ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะสนับสนุนทุนในบางส่วนแก่นักวิจัย เพื่อให้การดำเนินงานได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสังคมได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

          นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาถอดบทเรียน โดยนำผู้ปกครองของเด็กที่ได้ใช้สื่อการเรียนรู้มาเล่าประสบการณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ได้นำไปปฏิบัติในการดูแลผู้พิการในวิถีชีวิตใหม่ตามบริบทของพื้นที่ และยังได้รับเกียรติจากนายแพทย์ขวัญชัย ประเสริฐยิ่ง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลนครพนม มาเป็นวิทยากรและบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “สิทธิด้านสุขภาพของคนพิการ Covid-19 และการเข้าสู่ Next Normal” ซึ่งมีผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก