ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ไทย” เจ้าภาพจัดสัมมนา และสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 16

วันที่ลงข่าว: 24/04/13

 

ประจวบคีรีขันธ์ - ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาทำสิทธิให้เป็นจริง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2556 และสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ระดมสมองเตรียมพร้อมสำหรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมีผู้นำคนตาบอดจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ตบเท้าเข้าร่วมประชุมกันอย่างคักคึก

       

วันนี้ (22 เม.ย.) นายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทำสิทธิให้เป็นจริง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2556 และการประชุมสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 16 หรือ ACBF : ASEAN Community Blind Forum ระดมสมองเตรียมพร้อมสำหรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมีผู้นำคนตาบอดจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เข้าร่วมประชุมอย่างคักคึก พร้อมด้วยผู้แทนจากสมาคมคนตาบอดทั่วประเทศกว่า 500 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมหัวหินแกรนต์ โฮเทล แอนท์พลาซ่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มี น.ส.ณุวรรณา อนันตกิจไพศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายมนตรี ชูภู่ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ

       

นายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นองค์กรหลักที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือคนตาบอดในท้องถิ่ ให้เข้าถึงสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น ตลอดจนการพัฒนาอาชีพเพื่อให้คนตาบอดอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข มีศักยภาพ และไม่เป็นภาระแก่สังคม ซึ่งที่ผ่านมา มีการผลักดันทั้งด้านกฎหมาย ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านงบประมาณไปพร้อมๆ กัน โดยจะเห็นได้จากความสำเร็จในการจัดประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลก ครั้งที่ 8 ในปี 2555 ที่ผ่านมา ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ก็สามารถผลักดันให้เกิดการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่คนตาบอดเพิ่มมากขึ้น

       

ด้านนาย Teddy ผู้แทนคนตาบอดจาก ประเทศฟิลิปปินส์ และนาย Cheng Hock จากสิงคโปร์ ที่มาเข้าร่วมประชุม ASEAN Community Blind Forum ในครั้งนี้ด้วยต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เวทีการประชุมในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีให้คนตาบอดทุกคน ได้รู้ถึงสิทธิอันพึงมีในสังคม และสิทธิที่ควรจะได้รับ จากนี้คนตาบอดในประเทศไทย ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเชียนยังควรเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งการประชุมในประเทศไทยครั้งนี้ จะช่วยให้คนตาบอดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถวางแผนอนาคตของคนตาบอดได้

       

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการประชุมระดมสมองของผู้แทนคนตาบอดแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการสำหรับคนตาบอดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อคนตาบอดมาจัดแสดง พร้อมสาธิตให้กับคนตาบอดได้ทดลองใช้งาน เช่น บลูทูธช่วยฟังเสียง นำเข้าจากประเทศอเมริกา โปรแกรมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ผ่านมือถือไอโฟน ห้องสมุดเสียงช่วยคนตาบอดที่อ่านหนังสือไม่ออก หรือต้องการเพิ่มความรู้ ฯลฯ

       

โดยที่เป็นไฮไลต์ของงาน และได้รับความสนใจจากคนตาบอดค่อยข้างมากคือ เครื่องจดจำสำหรับคนตาบอดที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลิตเครื่องจดจำให้แก่คนตาบอดได้ สามารถทำหน้าจดบันทึกข้อมูล ส่ง SMS เข้ามือถือ ฯลฯ ทั้งนี้ หากเป็นเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาอยู่ราวเครื่องละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่ของคนไทยผลิตได้นี้มูลค่าเพียงหลักพันบาท สามารถใช้งานได้ดีไม่แพ้ต่างประเทศ โดยเครื่องดังกล่าวยังเป็นเครื่องต้นแบบ โดยเตรียมผลิตเพื่อแจกให้แก่คนตาบอดที่สนใจนำไปทดลองใช้ก่อน 100 เครื่อง ภายในปี 2556 นี้ จากนั้นจะเริ่มผลิตเพื่อการจำหน่ายในภายหลัง

 

ที่มาของข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 เมษายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก