ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อำเภอเบตงจัดการประชุมการรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ระหว่างวันที่ 5 ก.ย.-19 ต.ค.65 พร้อมตรวจเยี่ยมสถานที่ในการรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

วันที่ลงข่าว: 06/09/22

          ที่บ้านพักนายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ประชุมหารือเตรียมความพร้อม การรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ระหว่างวันที่ 5 ก.ย.-19 ต.ค.65 และการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่การรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมี ผู้จัดการธนาคารออมสิน ปลัดอาวุโส และปลัดอำเภอเบตง เสมียนตราอำเภอเบตง เข้าร่วมประชุม

          จากนั่นนายอำเภอเบตงได้ลงพื้นที่หอประชุมว่าการอำเภอเบตง และหอประชุมโรงเรียนจงฝามูลนิธิ ซึ่งเป็น สถานที่ในการรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมตรวจเยี่ยมและพบปะบุคลากร เจ้าหน้าที่ ซึ่งทำหน้าที่รับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ เพื่อซักซ้อม เตรียมการทดสอบระบบการลงทะเบียน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาลงทะเบียนฯ ในครั้งนี้

        โดยประชาชนสามารถทยอยลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คลิกที่นี่) หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ที่หอประชุมว่าการอำเภอเบตง และหอประชุมโรงเรียนจงฝามูลนิธิซึ่งเป็นสถานที่ในการรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในครั้งนี้

 

สำหรับการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ต้องเตรียมหลักฐาน ดังนี้

 

บัตรประชาชนของผู้ที่ลงทะเบียน

 

บัตรประชาชนของคู่สมรส + สำเนา

 

สูติบัตร หรือบัตรประชาชนของบุตร (กรณีที่มีครอบครัว) + สำเนา

         กรณีผู้ลงทะเบียนเป็นคนโสดหรือไม่มีครอบครัว สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์โดยไม่ต้องนำเอกสารไปยื่นที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ทั้งนี้ การกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มในเว็บไซต์จะต้องใช้ข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ สถานภาพการมีครอบครัว โดยสมาชิกในครอบครัวหมายถึง สามี หรือภรรยา ที่จดทะเบียนสมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม) อาชีพ รายได้และหนี้สิน

         เมื่อกรอกข้อมูลทางเว็บไซต์สำเร็จ จะต้องเลือกหน่วยงานรับลงทะเบียนที่ผู้ลงทะเบียนสะดวก เพื่อไปยื่นเอกสารที่ลงลายมือชื่อครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ถึงจะถือว่าจบขั้นตอนการลงทะเบียน (หากไม่ได้เดินทางไปยื่นเอกสารที่หน่วยงานรับลงทะเบียน จะถือว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จ)

        กรณีผู้ลงทะเบียนที่มีครอบครัว เดินทางนำเอกสารไปยื่นที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ซึ่งจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียน รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตร พร้อมลงลายมือชื่อ ในกรณีที่คู่สมรสและบุตร ไม่ได้เดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน

        อย่างไรก็ดี หากคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียนเดินทางมาแสดงตัว ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนพร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนก็จะไม่จำเป็นต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียน

        กรณีที่ผู้ลงทะเบียนสะดวกลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนำไปยื่นที่ หน่วยงานรับลงทะเบียน ซึ่งจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียน รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตรพร้อมลงลายมือชื่อ ในกรณีที่คู่สมรสและบุตรไม่ได้เดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน

 

อย่างไรก็ดี หากคู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียนเดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สำเนา

 

กรณีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงทะเบียนแทนได้ ทั้งนี้แบบฟอร์มการลงทะเบียนและหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของโครงการฯ (โหลดที่นี่) และเอกสารอื่นๆ ดังนี้

 

- แบบฟอร์มการลงทะเบียน

 

- สำเนาบัตรประชาชน (ผู้ลงทะเบียน) พร้อมลงลายมือชื่อ

 

- สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส บุตร หรือสำเนาสูติบัตร พร้อมลงลายมือชื่อ

 

เอกสารสำหรับการมอบอำนาจ

 

- หนังสือมอบอำนาจ (ดาวน์โหลดที่เว็บไซต์โครงการ)

 

- บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ได้รับมอบอำนาจ)

 

- สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)

 

ทั้งนี้ กรณีที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์โดยกดยืนยันการลงทะเบียน (Submit) ในระบบแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลใดๆ ได้ทั้งสิ้น ยกเว้นกรณีที่ข้อมูล 5 Fields ของผู้ลงทะเบียนไม่ถูกต้อง ได้แก่ 1.เลขประจำตัวประชาชน 2.ชื่อ 3.นามสกุล 4.วันเดือนปีเกิด และ 5.เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser No.) ของผู้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ได้

 

สำหรับข้อมูลส่วนอื่นผู้ลงทะเบียนจะต้องไปแก้ไขที่หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ผู้ลงทะเบียนได้ยื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนเอาไว้เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 หรือ บัตรคนจนรอบใหม่นี้ ไม่อนุญาตให้บุคคลดังต่อไปนี้ลงทะเบียน คือ

 

ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

 

ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง

 

บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ เนื่องจากบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์จะได้รับสวัสดิการจากสถานสงเคราะห์อยู่แล้ว

 

ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ

 

ข้าราชการการเมือง

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

 

อย่างไรก็ตาม หากบุคคลดังกล่าวสิ้นสภาพแล้ว และมีคุณสมบัติครบถ้วนในช่วงเวลาที่เปิดรับลงทะเบียน และสมัครใจลงทะเบียนตามโครงการฯ ก็สามารถลงทะเบียนได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ขณะที่ บุคคลล้มละลาย สามารถลงทะเบียน เข้าโครงการได้

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก