ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ รัฐบาล เดินหน้าจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีกว่า 3,000 คัน ทดแทนรถโดยสารเดิมที่เสื่อมสภาพ

วันที่ลงข่าว: 19/04/13

 

รัฐบาล เดินหน้าโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี)จำนวน 3,183 คัน ทดแทนรถโดยสารเดิมที่เสื่อมสภาพ หวังพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้เป็นระบบเดียวกันที่มีความเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(ขสมก.)หลังขาดทุนสะสมมานานหลายสิบปี 

 

และแล้วโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี)เพื่อนำมาให้บริการทดแทนรถโดยสารเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(ขสมก.) ที่มีทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 8 ปีได้ข้อยุติในรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลัง คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา อนุมัติให้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน3,183 คัน ทดแทนรถเมล์เดิมที่เสื่อมสภาพและใช้งานมานานเกินกว่า 10 ปี ด้วยเงินงบประมาณ 13,162.2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย และช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงเป็นเงินได้ปีละ 2,600 ล้านบาท โดยแบ่งการจัดซื้อ 2 ประเภท คือ รถโดยสารธรรมดา(รถเมล์ร้อน) 1,659 คัน ราคากลางที่ 3.8 ล้านบาทต่อคัน และรถโดยสารปรับอากาศ(รถเมล์แอร์) 1,524 คัน ราคากลางที่ 4.5 ล้านบาทต่อคัน เมื่อมีการเปิดการประมูลราคาจะปรับลดลงอีก คาดว่า สามารถเปิดประมูลงวดแรกได้ปี 2557

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมตรี เน้นการจัดซื้อรถเมล์แอร์มากกว่ารถเมล์ร้อน หวังจูงใจประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้นลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลง เพื่อลดการจราจรที่ติดขัดโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ลดเส้นทางรถเมล์จาก 209 เส้นทาง เหลือเพียง 155เส้นทาง ลดความซ้ำซ้อนของเส้นทางการเดินรถถนนสายหลักและรองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในอนาคต และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ ที่สำคัญให้เพิ่มการบริการผู้สูงอายุและคนพิการด้วย และจะใช้ระบบตั๋วโดยสารร่วมช่วยให้ค่าใช้จ่ายเดินทางจะถูกลง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในเมืองหลวงให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่ง ขสมก.จะประกวดราคาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมดเป็น 8 สัญญา 8 เขตการเดินรถ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทุกรายสามารถเข้ายื่นเสนอราคาและแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประหยัดเงินในการจัดซื้อ ทำให้ต้นทุนของ ขสมก.ลดลง คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน สำหรับงบลงทุนกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ค้ำประกันและจัดหาเงินกู้ให้ ขสมก.กู้ต่อ จากนั้น ขสมก.เปิดบริการเดินรถนำเงินค่าโดยสารที่ได้มาชำระหนี้คืนรูปแบบการผ่อนจ่ายภายในเวลา 10 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาหนี้จากการขาดทุนสะสมของ ขสมก.ได้ในระดับหนึ่งจากเดิมที่มีหนี้สะสมอยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท ส่วนหนี้เดิมของ ขสมก. กระทรวงการคลังจะยกหนี้ให้ไม่เกินร้อยละ 25 และพักหนี้ส่วนที่เหลือจนกว่าฟื้นฟูกิจการได้

ด้าน นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)กล่าวว่า ขสมก.จะเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการการลดต้นทุนด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้พนักงานมีการเกษียณอายุก่อนกำหนดจำนวน 2,400 คน และลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลที่มีราคาสูง คาดว่า ขสมก.จะส่งแผนการฟื้นฟูกิจการและแผนธุรกิจให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ใน 1 -2 เดือนข้างหน้า ส่วนการจัดหาก๊าซเอ็นจีวีและก่อสร้างสถานีบริการก๊าซฯจะเป็นการดำเนินการของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพิ่มอีก 5 แห่ง ส่วนกรณีเกิดวิกฤติขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในอนาคต รถเมล์ที่ใช้เอ็นจีวีจะสามารถปรับปรุงระบบการทำงานของเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 หรือ น้ำมัน อีดี 95 ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาเทคโนโลยี

ปัจจุบัน ขสมก.มีประชาชนใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านคนต่อวัน สูงกว่ารถไฟฟ้าใช้อยู่ 600,000 คน และรถไฟใต้ดินใช้อยู่ 200,000 คน นับเป็นการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่คุ้มค่า ดังนั้น โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่จะช่วยให้ประชาชนหันมาใช่รถเมล์เพิ่มเป็น 2.5 ล้านคนต่อวัน ซึ่งรัฐบาลเน้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในประเทศเป็นผู้ต่อรถเมล์เอ็นจีวี เพื่อเพิ่มการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจประเทศ

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก