ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ตรีนุช” พอใจโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เฟสแรก 52,760 ราย เดินหน้าต่อเฟส 2

วันที่ลงข่าว: 28/06/22

          รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” พอใจโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เฟสแรก 52,760 ราย เดินหน้าต่อเฟส 2 ตั้งเป้านำเด็กการศึกษาภาคบังคับกลับเข้าระบบ 100% ภายในกันยายนนี้

          25 มิถุนายน 2565 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา โดยกล่าวว่า โครงการนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิดที่ว่า “การศึกษาไทยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผ่านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด ศธ. ในการค้นหาและติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคัน ให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ซึ่งจังหวัดพังงา มีเด็กหลุดออกจากระบบ จำนวน 149 คน พบตัวแล้ว 127 คน และกลับมาเรียนแล้ว 64 คน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดได้ดี

          จากการดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ในเฟสแรก ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 มิ.ย. 2565 จากจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน รวม 121,642 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมทั้งสิ้น  67,129 คน พบตัวแล้ว 52,760 คน ในจำนวนที่พบตัวนี้กลับเข้าระบบ 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างการติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับและมีความต้องการประกอบอาชีพ

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในกลุ่มเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว จะมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ โดยโรงเรียนรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล จำแนกกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา เพื่อการดูแลช่วยเหลือตามสาเหตุ เช่น จัดหาทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีฐานะยากจน บิดามารดาเสียชีวิต หรือกรณีเรียนรู้ช้า ก็ปรับวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ สอนซ่อมเสริม เป็นต้น

          ขอขอบคุณทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรของ ศธ. ทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันตามหาตัวนักเรียนนักศึกษาและส่งต่อให้ได้มีโอกาสกลับมาเรียน ตัวเลขการค้นพบนักเรียนนักศึกษากว่า 5 หมื่นคน นับเป็นผลความสำเร็จของการดำเนินงานพาน้องกลับมาเรียน” นางสาวตรีนุช กล่าว

 

ที่มาของข่าว ศธ.360องศา
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก