ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ฟังเสียงคนกลุ่มเปราะบาง ช่วยเด็กและผู้หญิงพิการ หลุดพ้นวังวนความรุนแรง

วันที่ลงข่าว: 28/06/22

          แม้ปัจจุบันสังคมจะให้ความสนใจเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศมากขึ้น แต่จากข้อมูลกลับพบว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก พบผู้หญิงถูกล่วงละเมิด ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ ประมาณ 30,000 ราย/ปี โดยสิ่งที่น่าตกใจคือในจำนวนตัวเลขเหล่านี้ มีกลุ่มเปราะบางของสังคมอย่าง ’กลุ่มเด็กและสตรีพิการ’ รวมอยู่ด้วย

         จากตัวเลขข้างต้น อีกทั้งการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กและสตรีพิการในประเทศไทยมีส่วนน้อย สวนทางกับความรุนแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ

         โดยร่วมกันเก็บข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ จากกลุ่มตัวอย่าง 12 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ “โครงการก้าวที่เป็นมิตรต่อเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ” เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงนโยบายและพรบ.อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดเวทีนำเสนอข้อมูลรายงาน “สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ” เมื่อ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

          นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการเปิดงานว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และก่อให้เกิดคดีล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการที่จะให้เด็กหรือผู้หญิงออกมากล้าฟ้องหรือแจ้งความเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เช่น พ่อทำลูก แต่ลูกไม่กล้าบอก เพราะด้วยความที่เป็นพ่อ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องไปช่วยในกระบวนการรับรู้สิทธิ ปกป้องยืน สร้างความมั่นใจและเคียงข้างในกระบวนการยุติธรรมจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ ที่สำคัญต้องทำให้ผู้ที่ถูกละเมิด “กล้า” และ “ไม่รู้สึกว่าสู้อยู่คนเดียว” ก่อนจะเข้าสู่การยอมแพ้ จนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมในที่สุด

          “เจตคติของสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องร่วมกันสร้าง ว่าการที่คนหนึ่งถูกล่วงละเมิด มันไม่ใด้เกิดจากเหยื่อ แต่เกิดจากผู้กระทำผิดต่างหากที่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ต่อมาก็คือการสร้างความเข้มแข็งให้เหยื่อ สามารถลุกมาต่อสู้เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิดให้ได้ สุดท้ายต้องสร้างสังคมแห่งความเข้าใจต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อย่าบูลลี่ หรือพูดให้เขาหมดกำลังใจ” ปลัดกระทรวงพม. กล่าว

          ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา สสส. ทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้เป็นกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและผู้หญิงพิการ ที่ถูกกระทำความรุนแรงต่าง ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มทั่วไป จากผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิงพิการ ปี 2564 พบว่า ปัจจุบันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพ และสังคม มีเพียง 29% เท่านั้น

         “ความจริงเราอยากทำข้อมูลสถานการณ์ให้มันชัดเจนกว่านี้ มีประเภทความพิการ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อมูลเส้นทางเดินของเหยื่อก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่าเป็นอย่างไร บางเคสแพ้ตั้งแต่เริ่มแจ้งความ บางเคสเข้าไปถึงศาล เป็นคดีความแล้วแต่ระหว่างทางไม่มีเงินจะเดินทางไป ก็ไปแพ้ตอนนั้น บางเคสสุดท้ายขึ้นศาลไม่มีข้อมูลประกอบ ไม่มีหลักฐาน ก็ไปแพ้ตรงนั้นอีก เพราะฉะนั้นเราก็อยากรู้เส้นทางการต่อสู้การเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องนี้”

          “จากลุ่มตัวอย่างที่ทำ พบว่า ผู้หญิงหูหนวกโดนกระทำหนักที่สุด เพราะเขาไม่สามารถแจ้งความได้ด้วยตัวเอง เขาไม่มีปากมีเสียง กว่าจะแปลไปถึงตำรวจ พอตำรวจถามกลับก็ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นล่ามคือคนสำคัญที่จะต้องสู้ไปกับเขาด้วย ต้องปกป้องเหยื่อ ต้องตั้งคำถามที่ไม่ไปละเมิดเขามากเกินไป ไม่ถามซ้ำ และไม่บังคับให้เขายอมความ เพราะว่าในโรงพัก กระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่มีล่ามภาษามือที่จะคอยช่วยเหลือลักษณะนี้ ถ้าเหยื่อไม่มีเงินจ้างล่าม ก็เป็นปัญหาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ พิการแล้วยังจน แล้วยังเป็นผู้หญิง ซึ่งถูกกระทำความรุนแรง มันก็ไปต่อไม่ถูกแล้ว จะต้องยอมอย่างเดียว พอยอมครั้งหนึ่งแล้ว มันก็ต้องยอมต่อไป ซึ่งคนแบบนี้มีเยอะมาก” นางภรณี อธิบาย

          นอกจากบทบาทการเข้ามาสนับสนุนงานวิชาการ สสส. ยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (มสส.) และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการก้าวที่เป็นมิตรต่อเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ ดังนี้

         1.สนับสนุน ฟื้นฟู เยียวยา เสริมพลังเด็ก ผู้หญิง คนพิการที่ประสบความรุนแรงให้ก้าวข้ามปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงรายอื่นให้รู้สิทธิตามกฎหมาย

         2. รวบรวม เผยแพร่สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ค้นหาปัญหา ช่องโหว่ และนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและบริการของภาครัฐ

“นอกจากนี้ยังทำงานคู่ขนานไปกับสหวิชาชีพด้วย เพราะงานด้านนี้ไม่ใช่แค่พม.ที่ต้องละเอียดอ่อน แต่ตำรวจ ครูในโรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจต่อเรื่องนี้ ต้องไม่เป็นผู้กระทำซ้ำต่อเหยื่อ เพราะฉะนั้น สสส. ก็จะมีงานอีกทางหนึ่งที่ทำงานกับเจ้าหน้าที่ภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เหยื่อมีทางเลือก ไม่ได้หมายความว่าแบบใดแบบหนึ่งมันจะเวิร์คสำหรับทุกคน เราไม่ได้การันตีในหลักสูตรว่า เราจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติ หรือเปลี่ยนคนได้ แต่อย่างน้อยเขาจะได้เห็นอีกด้านหนึ่ง เข้าใจมากขึ้น เราเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่มีความเอื้ออาทร และเชื่อว่า ไม่มีใครอยากไปทำร้ายคนอื่นมากขึ้นหรอก แค่เขาไม่รู้ว่า การพูดแบบนั้นหรือทำแบบนั้นไปกระทบเหยื่อซ้ำ” นางภรณี กล่าว

         นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งเครือข่าย ‘เหยื่อผู้ผ่านพ้น’ ที่สามารถกลับมามั่นใจและตั้งหลักชีวิตได้อีกครั้ง ที่พร้อมอาสากลับมาเป็นพี่เลี้ยงเยียวยา ฟื้นฟู ช่วยเหลือรุ่นน้อง ซึ่งมันจะทำให้เหยื่อด้วยกันเองเปิดประตู กล้าที่จะปรึกษา บางกรณีที่พบ พี่เลี้ยงบางคนยังเป็นเด็กด้วยซ้ำ แต่เขาสามารถเป็นพี่เลี้ยงที่ดีให้กับบุคคลอื่นได้

ด้าน นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย ในฐานะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวเสริมว่า ตามข้อมูลที่ สสส. ได้กล่าวไปข้างต้น ตัวเลขการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นมีเพียง 29% เท่านั้น ซึ่งการกระทำซ้ำของกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้คนพิการไม่กล้าเข้าไปแจ้งความ ซึ่งจากการสำรวจแบ่งออกเป็นอุปสรรคทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1 .อุปสรรคทางกายภาพ สภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว หรือการเคลื่อนที่ของบุคคล 2.อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารและการสื่อสาร อุปสรรคในการฟัง พูด อ่าน เขียนในรูปแบบที่ใช้กันทั่วไป จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการสื่อสาร ในรูปแบบอื่น 3. อุปสรรคด้านระเบียบ กฎหมาย ระเบียบ นโยบายหรือกฎหมายที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนพิการยังมีไม่เพียงพอ และ 4. อุปสรรคด้านทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ มุมมองที่ส่งผลให้เกิดอคติ การตีตรา เลือกปฏิบัติ และนําไปสู่การละเมิดสิทธิ

ทั้งนี้ บนเวทีนำเสนอรายงาน นางสาวเสาวลักษณ์ ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ภาพรวมผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิงพิการ เพิ่มเติมว่า กรณีความรุนแรงทางเพศส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดเป็นเพศชาย เกิดขึ้นในบ้านกว่า 76% โดย 39% เป็นพ่อของเหยื่อ และญาติ (ชาย) 35% นอกจากนั้นกรณีความรุนแรงอื่น ๆ พบว่า เกิดจากสามีกว่า 33% พ่อ 29% แม่ 19% ญาติ 14% และ 5% คือแพทย์ โดยประเภทความรุนแรงจากกลุ่มตัวอย่างคือการทำร้ายร่างกาย การใช้คำพูด และการถูกละเลยทอดทิ้งตามลำดับ

         “ข้อค้นพบเหล่านี้จะถูกทำไปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงและแก้ไขพรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้เพิ่มมิติเรื่องเพศและมิติที่เกี่ยวกับเด็ก ถ้าพรบ.ฉนับนี้ไม่มีมิติเรื่องเพศและมิติที่เกี่ยวกับเด็ก การจัดการเรื่องความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการนั้นไม่อาจจะกระทำได้ เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้และมีผลต่อคนพิการโดยตรง ซึ่งจะเป็นตัวหลักในการสร้างสะพานไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและบริการอื่น ๆ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น ๆ”

         อย่างไรก็ตาม แม้เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ในต้นทาง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันคือตลอดการเดินทางร่วม 2 ปีภายใต้งานวิจัยฉบับนี้คือความกล้าหาญของคนพิการหลายคน ทั้งเด็ก ผู้หญิง ครอบครัว และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปลายทาง

 

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/qol/detail/9650000060751
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก