ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ประชาชนชาวอาเซียนกับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 10/04/13

 

ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์

อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ในช่วงนี้ องค์กรภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยต่างตื่นตัว และเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การเกิดประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ในปี  พ.ศ. 2558 การสัมมนาหัวข้อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนได้มีการจัดขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างหลากหลาย มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเอง รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการเปิด-ปิดภาคการศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆซึ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันมากขึ้น

 

หากมองการตื่นตัวโดยรวมขององค์กรต่างๆในประเทศไทยแล้ว หลายท่านคงคิดเหมือนผู้เขียนว่าประเทศไทยเรานี้มีการเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องราวของอาเซียนแล้วนั้น ประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

 

จากการสำรวจแบบสอบถามจากนักศึกษาจำนวน 2,170คนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ ในหัวข้อทัศนะคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน พบว่า นักศึกษาในประเทศไทยนั้นยังมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อถามว่า คุณคุ้นเคยเกี่ยวกับอาเซียนแค่ไหน

 

ประเทศที่ประชาชนมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับอาเซียนมาก คือ เวียดนาม ร้อยละ88.6 และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร้อยละ84.5 ในขณะที่ในประเทศไทย ประชาชนมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับอาเซียนเพียง ร้อยละ68 และประเทศที่มีความคุ้นเคยเกี่ยวกับอาเซียนต่ำที่สุด คือ เมียงม่า ร้อยละ 9.6 เท่านั้น 

 

หากถามความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาเซียนด้วยแล้ว เช่น ท่านทราบหรือไม่ว่าธงอาเซียนมีลักษณะอย่างไร หรือ อาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อใด นักเรียน และ นักศึกษาในประเทศไทยมีความรู้ดังกล่าวอยู่ในลำดับสุดท้ายที่ประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาเซียนสูงกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศบรูไน ร้อยละ 98.35 ทราบว่าธงอาเซียนมีลักษณะอย่างไร ในขณะที่ร้อยละ 68.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว‎ ทราบว่าอาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อใด เป็นต้น

 

แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐต่างพยายามจัดเวที หรือการสัมมนาต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรตนเองในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น แต่ประชาชนในประเทศเองส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักและยังขาดความรู้เกี่ยวกับอาเซียนอยู่มาก งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาการก่อตั้งประชาคมอาเซียน เช่น Ortuoste 2008, Felker2004, และ Pelksman 2009 กล่าวคล้ายกันว่าการก่อตั้งประชาคมอาเซียนนั้นแตกต่างจากการก่อตั้งองค์กรภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป เนื่องจาก ประชาคมอาเซียนก่อตั้งขึ้นจากความคิดริเริ่มของผู้นำ และผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายของประเทศสมาชิก หรือ Elite and State-Centric เท่านั้น ซึ่งต่างจากสหภาพยุโรป ก่อนการก่อตั้งสหภาพยุโรปนั้น รัฐบาลของประเทศยุโรปในขณะนั้นได้ มีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวยุโรปว่าต้องการให้ประเทศของตนเข้าร่วมในสหภาพยุโรปหรือไม่ และการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปประชาชนเห็นว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อประเทศของเขามากน้อยแค่ไหน เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการจัดตั้งสหภาพยุโรปจึงได้มีการจัดตั้งขึ้น

 

สำหรับในอาเซียนนั้น การจัดตั้งประชาคมอาเซียนไม่เคยมีการสอบถามหรือ ทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ทราบถึงความต้องการ และความคิดเห็นของประชาชนในประเทศสมาชิกโดยภาครัฐมาก่อนว่าควรมีการจัดตั้งประชาคมดังกล่าวหรือไม่ จึงทำให้เมื่อมีการจัดตั้งประชาคมแล้วประชาชนในประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์  แนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งประโยชน์ที่ตนเองและที่ประเทศชาติจะได้รับจากการก่อตั้ง และให้ความร่วมมือในประชาคมดังกล่าว  

 

นอกจากนี้หากเป็นประชาชนทั่วไปด้วยแล้วยิ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนได้เลยทีเดียว มีเพียงแต่บุคลากรในระดับสูงเสียส่วนใหญ่ที่จะเข้าถึง และเข้าใจนโยบายเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียนในหลายองค์กร และพบว่าข้าราชการ รวมทั้งพนักงานของรัฐในองค์กรที่สำคัญยังไม่ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานของอาเซียน ไม่ทราบว่าอาเซียน ย่อมาจากอะไร มีสมาชิกกี่ประเทศ

 

และยิ่งถามถึงประชาคมอาเซียนด้วยแล้วผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึง 3 เสาหลักสำคัญภายใต้ประชาคมอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสนใจในการเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน หรือประโยชน์ที่จะได้รับต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในประชาคมอาเซียนมากนัก

 

มีข้อมูลที่น่าสนใจ อีกประเด็นหนึ่งคือ ประชาชนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นประชาชนอาเซียนอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เพียงร้อยละ 67 เท่านั้น ในขณะที่ประชาชนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรู้สึกว่าตนเองเป็นประชาชนของอาเซียนถึงร้อยละ 96 และประชาชนจากประเทศกัมพูชารู้สึกว่าตนเองเป็นประชาชนอาเซียนถึงร้อยละ 92.7 น่าจะเป็นการดีหากภาครัฐจะทำเช่นไรให้คนไทยรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนอย่างแท้จริง มิใช่เพียงแค่ให้ความสำคัญหรือสนใจกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

 

ในประเทศอินโดนิเซียเองซึ่งถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียนประเทศหนึ่งได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากเมืองสำคัญ 5 เมือง คือ จาการ์ต้า มาคาซา มีดัน พอนตินัค และ สุราบายา โดย Guido Benny อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอินโดนิเซีย และDr. Kamarulnizam Abdullah อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย โดยนักวิจัยทั้ง 2 ท่าน ได้ส่งแบบสอบถามร้อยละ 50 ไปยังนักศึกษา และอีกร้อยละ 50 ส่งไปยังบุคคลทั่วไปเพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจของประชาชนชาวอินโดนิเซียเกี่ยวกับอาเซียน และประชาคมอาเซียน

 

ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ ประชาชนของอินโดนิเซียส่วนใหญ่รู้จักอาเซียน แต่หากถามลงรายละเอียดที่สำคัญ เช่น ทราบหรือไม่ว่าอาเซียนมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งคืออะไร หรือทราบถึงโครงสร้างองค์กรของอาเซียนหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กลับไม่ทราบถึงรายละเอียดดังกล่าว และเมื่อถามว่าท่านเห็นว่าอาเซียนถือเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จหรือไม่

 

ชาวอินโดนิเซียที่ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ประชาชนที่อาศัยในเมืองใหญ่อย่างจาการ์ต้าเห็นว่าอาเซียนเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากประชากรในจาการ์ต้าซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับอาเซียนได้ง่ายกว่าประชากรในเมืองอื่นๆ ส่วนเมืองมีดัน และพอนตินัค นั้นก็มีความเห็นสอดคล้องกับผลสำรวจจากเมืองจาการ์ต้า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมืองมีดันและเมืองพอนตินัค อยู่ใกล้กับมาเลเซียและซาราวัค ซึ่งสามารถได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนผ่านทางมาเลเซีย ส่วนเมืองอื่นๆที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงและเมืองใหญ่ต่างเห็นคล้ายกันว่าอาเซียนเป็นองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก 

 

แต่หากถามประชาชนอินโดนิเซียเกี่ยวกับความรู้เรื่องประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Communityแล้วนั้น เป็นที่น่าประหลาดใจว่าประชากรในอินโดนิเซียส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ และยังไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแม้กระทั่งว่าจะมีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 และบางส่วนไม่เคยได้ยินข้อมูลใดๆเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนเลยทีเดียว จึงเห็นได้ว่าสถานการณ์การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในประเทศอินโดนิเซียนั้นไม่แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก อินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

 

 นอกจากนี้ อินโดนิเซียยังมีบทบาทสำคัญในอาเซียนอีกมากมาย เช่น เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ก่อตั้งอาเซียน มีบทบาทเป็นผู้นำอาเซียนอยู่หลายครั้ง และที่สำคัญที่สุดเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการก่อตั้งประชาคมอาเซียน แต่ประชากรในประเทศเองยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ประชาชนยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ที่ตนเองและประเทศจะได้รับหากเขาสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 การขาดความรู้ความเข้าใจของประชาชนดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาคมอาเซียนให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

การขาดความรู้ความเข้าใจของประชาชนในภูมิภาคเกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียนนั้นถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาคมต่อไป ดังนั้นเพื่อให้ประชาคมอาเซียนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยื่นอย่างองค์กรภูมิภาคอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนของประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง กระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประชาคมอาเซียน รวมทั้งผลักดันให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองเป็นประชาชนของอาเซียน มิใช่เป็นประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น 

 

การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนชาวอาเซียนอย่างแท้จริงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและยังช่วยสนับสนุนให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความมั่นคงและเพิ่มศักยภาพให้เทียบเท่ากับองค์กรภูมิภาคอื่นๆในเวทีโลกต่อไป

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 9 เมษายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก