ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“พงศ์เทพ” ฝาก 3 แนว นำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

วันที่ลงข่าว: 02/04/13

 

“พงศ์เทพ” ฝาก 3 แนวนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ย้ำต้องทำให้คนมีคุณวุฒิตรงตามต้องการผู้ใช้ในประเทศและประเทศอาเซียน

       

       วันนี้ (22 ก.พ.) ที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เรื่องการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฎิบัติ โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เปิดการประชุมพร้อมมอบนโยบาย “แนวทางในการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ” ตอนหนึ่งว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฎิบัติ และมอบหมายให้ ศธ.นำไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งการประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากกลุ่มต่างๆ ที่ สกศ.จะได้รับจากทั้งภาคแรงงาน และผู้ใช้บัณฑิต เพื่อกำหนดสิ่งที่ต้องพัฒนาร่วมกัน เชื่อมโยงกับการพัฒนาการศึกษา แรงงาน และตรงกับความต้องการของผู้ใช้ เพราะที่ผ่านมา กลุ่มผลิตบัณฑิต แรงงาน และกลุ่มผู้ใช้ ไม่เคยมีการเชื่อมโยงกัน ทำให้เมื่อบัณฑิต จบออกมาไม่สามารถทำงานได้ทันที ต้องมาฝึกฝนประมาณ 1 ปี ต่อจะสามารถทำงานได้ ซึ่งตนได้มอบแนวทางการนำมาใช้ ดังนี้

       

       1.ต้องทำให้การผลิตบัณฑิตตรงกับความต้องการของผู้ใช้ที่ได้รับมาตรฐาน และมีคุณภาพ ทำอย่างไรให้สถาบันการศึกษาเชื่อมโยงกับภาคแรงงาน และผู้ใช้บัณฑิต 2.กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ต้องเป็นช่องทางให้ผู้ที่มีประสบการณ์ ผู้บริหารในสาขาอาชีพต่างๆ แต่ไม่ได้จบปริญญา สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เรียนต่อในระดับปริญญาโท-เอกได้ และ3. ในส่วนของภาคแรงงาน ต้องมีมาตรฐานฝีมือแรงงานเทียบเคียงในภาคการศึกษาได้ กรอบดังกล่าวต้องเป็นสะพานเชื่อมโยง มีกลไกในการดำเนินการ และจะมีการจัดระบบอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพของสังคม การศึกษาไทย อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้ เอื้อต่อการเตรียมพร้อมประชาชนอย่างมาก เพราะจะเป็นการกำหนดว่าประเทศไทยอยู่ลำดับไหน ทำอย่างไรให้คนไทย แรงงานมีคุณวุฒิตามที่ต้องการของผู้ใช้ทั้งในไทย และอาเซียน

       

       ด้าน นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับกรองคุณวุฒิแห่งชาติ ว่า กรมพัฒนาฯ กำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานไว้ 220 มาตรฐาน แต่พบว่ามีผู้มาทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพียง 20 มาตรฐานเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะกรมไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้ไม่ทราบกัน หรืออาจไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ดังนั้นตนจึงได้สั่งการให้ปรับปรุงมาตรฐานต่างๆให้สอดคล้องกับตลาดแรงงงาน เพราะมาตรฐานจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและพลวัตรของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาทิ ผู้ขับขี่รถบรรทุก เนื่องจากเส้นทางคมนาคมในอนาคตจะเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในอาเซียนเข้าด้วยกัน หากผู้ขับขี่รถบรรทุกส่งสินค้าเสพยา หรือขับขี่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะเกิดอันตราย รวมทั้งช่างฝีมือต่างๆ ซึ่งต่างประเทศกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ช่างไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ กรมพัฒนาฯ พร้อมเป็นภาคีเครือข่ายกับ สกศ. ที่จะช่วยผลักดันกรอบคุณวุฒิแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ เพราะเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีหน้าที่ให้ความรู้ด้านทฤษฎีแก่แรงงาน ส่วนกรมพัฒนาฯ มีหน้าที่เพิ่มทักษะด้านวิชาชีพในโลกความเป็นจริงให้กับแรงงาน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้แรงงานไทยมีความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 22 กุมภาพันธ์ 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก