ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด "ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"

วันที่ลงข่าว: 17/01/22

          เวลา 12 นาฬิกา 20 นาที วันนี้ 14 มกราคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

          โอกาสนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

           จากนั้น ทรงเปิด "ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ซึ่งเดิมเป็นศูนย์รักษาผ่าตัดแก้ไขให้กับผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ อยู่ภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ประสบความสําเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ แบบลํารังสีทรงกรวย รุ่น MobiiScan (โม-บี-สแกรน) โดยสามารถใช้งานเชิงปฏิบัติได้สมบูรณ์แบบ มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ต่อการผ่าตัดเป็นที่ประจักษ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สวทช. จัดตั้ง "ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ขึ้น เพื่อรักษาผ่าตัดแก้ไขให้กับผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน การก่อสร้าง พร้อมติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลํารังสีทรงกรวยรุ่น MobiiScan และอุปกรณ์สนับสนุนอื่นที่จําเป็น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 โดยเน้นการทํางานแบบสหสาขาวิชาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายของผู้ป่วย ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ตกแต่งประสาท, ศัลยแพทย์โสต ศอ นาสิก, จักษุแพทย์, รังสีแพทย์, กุมารแพทย์, วิสัญญีแพทย์, พยาบาลเชี่ยวชาญด้านการดูแลปากแหว่งเพดานโหว่, นักแก้ไขการพูด, รวมถึงทันตแพทย์สาขาทันตกรรมจัดฟัน ทันตกรรมประดิษฐ์ ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

           โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัยสักการะรูปเหมือนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอริยสงฆ์ ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาแห่งจังหวัดเชียงใหม่

          ในการนี้ ได้ทอดพระเนตร "นิทรรศการประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ" ณ อาคารตะวันกังวานพงศ์

ที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความพร้อมในด้านเครื่องมือ นวัตกรรม และทีมสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ที่หลากหลาย จึงรวมกลุ่มเป็นศูนย์ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส มาตั้งแต่ปี 2554 โดยเน้นโครงสร้างการรักษาแบบองค์รวม ขณะนี้ มีผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่อยู่ในความดูแลของเครือข่าย เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและครบกระบวนการ จำนวน 1,957 ราย

          โดยในปี 2562 หลังจากก่อตั้ง "ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดําริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" แล้วเสร็จสมบูรณ์ ได้นำนวัตกรรม Computing Design และ 3D Model Printing มาช่วยในการวางแผนและออกแบบก่อนการผ่าตัดแก้ไขความพิการบริเวณใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ร่วมกับศัลยแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจำลองวิธีการผ่าตัดก่อนการผ่าตัดจริง ซึ่งเป็นผลให้ศัลยแพทย์ สามารถประชุมเพื่อวางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อเนื่อง รวดเร็ว ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ทั้งมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วย เพื่อติดตามอาการ และรับเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐาน รวมถึงการสำรวจประเมินผลปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการรักษา โดยช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ใช้ช่องทางการติดต่อผู้ป่วยและครอบครัว ผ่านแอปพลิเคชันไลน์, คอลเซ็นเตอร์ของศูนย์ฯ, และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วยประสานงานกับผู้ป่วยและครอบครัวอีกทางหนึ่ง ด้วย

          โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เป็นเด็กจำนวน 3 ราย ซึ่งทีมแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการรักษาผ่าตัดแก้ไขส่วนที่ผิดปกติจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งการพูด การรับประทานและยังสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก