ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ตรีนุช”ชูสงขลาพื้นที่นำร่องปักหมุดดึงคนพิการเข้าระบบการศึกษา

วันที่ลงข่าว: 13/01/22

พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดรับกับความต้องการของคนในท้องถิ่น มั่นใจศักยภาพสงขลาเป็นพื้นที่นำร่องที่แรกของไทย
          น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนพร้อม นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และ นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อให้กำลังใจ ตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และดูความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 2/2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) โดยได้พบปะกับพูดคุยกับครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ และโรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยทั้ง 2 โรงเรียนอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 16 (สงขลา สตูล) ซึ่งพบว่าทั้ง 2 โรงเรียน ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด
          รมว.ศธ.กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนได้ไปตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคลองหอยโข่ง สังกัด กศน. ซึ่งการมาลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ทำให้ทราบว่า จังหวัดสงขลามีเด็กตกหล่นที่เป็นผู้พิการอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความพร้อมในการจัดการศึกษาของ กศน.ที่นี่ ก็ทำให้มั่นใจว่าสงขลาเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะนำร่องปักหมุดเก็บผู้พิการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นที่แรกของประเทศไทย โดยได้มอบนโยบายให้ กศน. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งปักหมุดนำนักเรียนไทย กลับสู่ห้องเรียน ค้นหาและติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยใช้ข้อมูลของเด็กจากชื่อและที่อยู่ เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งสร้างระบบเครือข่ายการส่งต่อข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาของเด็กตกหล่นและออกกลางคันที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยที่จังหวัดสงขลา ควรเน้นเรื่องการให้ความรู้คนพิการ ซึ่งมีมากในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดรับกับความต้องการของคนในท้องถิ่น เช่น การเกษตรและแปรรูปอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์หอมเจียว การปลูกบอนสี การทำกระถางแฟนซี เป็นต้น
          “การนำผู้เรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยึดหลักการว่า การจัดการศึกษาจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่ง กศน. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ มีเครือข่ายที่ครอบคลุมอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ถ้าประสานการทำงานกับ สพฐ. ก็จะช่วยเก็บเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์สยามรัฐออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก