ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มจธ. พัฒนาศักยภาพคนพิการ ภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ” และ “ทำ”

วันที่ลงข่าว: 10/01/22

          แบรนด์ “เฮ็ดดิ”เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของกลุ่มคนพิการชุมชนบ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งซึ่งมี เห็ดนำโชค ไม้เท้า สายรุ้ง กระถางต้นไม้ ปลอกสวมด้ามไม้กวาด กระเป๋าและเสื้อมัดย้อมสีธรรมชาติ ล้วนมาจากฝีมือของคนพิการที่ได้รับการบ่มเพาะทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35
          อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ. กล่าวว่า หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นภายใต้โครงการฝึกอบรมฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 8 เพื่อสนับสนุนให้คนพิการที่ต้องการทำอาชีพอิสระ และเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมในต่างจังหวัด จากเดิมที่จัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคในการลงพื้นที่
          “หลักสูตรนี้มีความน่าสนใจตรงที่เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งจากโรงพยาบาลเต่างอย และอสม.เต่างอย ช่วยคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมการอบรม และได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบผู้ที่มีความรู้ ความสามารถด้านการออกแบบหัตถกรรมเข้าไปช่วยสอนคนพิการถึงในชุมชนตามหลักสูตร ทำให้การทำงานผ่านไปได้ด้วยดี”
          ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กลุ่มคนพิการที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การออกแบบชิ้นงาน การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การทำการตลาด เช่น การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา เป็นต้น ผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุจึงใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากนัก และใช้สัญลักษณ์เข้ามาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้นด้วย
          ด้านนางสมใจ สีทิน อายุ 53 ปี คนพิการทางร่างกาย กล่าวว่า ปัจจุบันมีอาชีพปลูกมะเขือเทศ เมื่อเข้ามาอบรมหลักสูตรนี้ ตนรู้สึกดีใจมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และยังสามารถสร้างรายได้เสริม ซึ่งตอนแรกยอมรับว่าค่อนข้างยาก แต่เมื่อฝึกฝนบ่อยๆ เริ่มจากถักปลอกไม้กวาด ต่อมาก็ถักเห็ด ทำเสื้อย้อมสีจากธรรมชาติ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งเราก็จะรวมกลุ่มกันทำ ลวดลายที่ออกมาก็จะไม่ซ้ำกัน ตอนนี้สามารถทำได้ทุกอย่าง นอกจากนี้ยังมีสอนวิธีการคิดต้นทุน ตั้งราคาขาย หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะได้กำไรเท่าไหร่ ซึ่งตอนแรกคิดว่าขายไม่ได้แต่พอทดลองมาขายแล้วก็ขายได้ ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไปรู้สึกภูมิใจมาก
          อาจารย์สุเมธ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ มจธ. ทำคือพยายามที่จะเข้าใจคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของคนพิการ คุณค่านั้นหมายถึง ภูมิปัญญา หรือทักษะเดิม และนำเอาคุณค่าเหล่านี้ มาสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในชุมชนให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น และเราจะมองสังคมเป็นหลักมากกว่าเรื่องของรายได้ ดังนั้นเราจึงพยายามดึงคุณค่านั้นมาทำให้ปรากฎแล้วคนพิการจะเห็นคุณค่าในตัวเอง ครอบครัวเห็นคุณค่า หมู่บ้านชุมชนหรือสังคมเห็นคุณค่า โดยหลังจากนี้มหาวิทยาลัยเตรียมต่อยอดขยายผลโครงการลักษณะนี้ออกไปทำในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก