ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดชุมพร ปฏิบัติการตรวจค้นหาเชิงรุก กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด -19 ในชุมชนปากน้ำชุมพร

วันที่ลงข่าว: 07/10/21

            วันที่ 5 ต.ค. 64 นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตรวจค้นหาเชิงรุก กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางในชุมชนปากน้ำชุมพร โดยสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจค้นหาเชิงรุก ตั้งเป้าตรวจ 3,000 คน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชุมชนปากน้ำชุมพรสามารถควบคุม และยุติได้โดยเร็ว

            นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรได้ติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด อยู่ที่อำเภอเมือง ตำบลปากน้ำ เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง จึงได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคส่วนหน้า ซึ่งตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ได้ดำเนินการเชิงรุกในทุกมิติ โดยในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อ แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากพบผู้ที่ติดเชื้อ จะส่งตัวสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล และหากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ และยังไม่มีการฉีดวัคซีน จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทันที โดยจะดำเนินการควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดในจังหวัดชุมพร ให้ได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

            ด้านนายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรได้กำหนดพื้นที่ ตำบลปากน้ำ เป็นวาระหลักของจังหวัด ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด และในครั้งนี้ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ สาธารณสุข ตรวจค้นหาเชิงรุก พร้อมกับฉีดวัคซีน ในกลุ่มที่เสี่ยงสูง ได้แก่ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง กลุ่มคนอ้วน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมมา ในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งหมด กว่า 3,000 คน โดยจากการลงตรวจในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการตรวจไปแล้ว 600 กว่าคน พบผู้ที่ติดเชื้อโควิด -19 จำนวน 27 คน ซึ่งทั้ง 27 คนนี้จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เนื่องจากอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง และจากการยกระดับให้พื้นที่ปากน้ำเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดชุมพร สาธารณสุขจะใช้เครื่องมือ ATK เป็นหลัก เพราะมีความเร็วในการตรวจหาเชื้อ ตรวจแล้วรู้ผลเลย จะได้ดำเนินการควบคุมได้ทันที นอกจากนี้ จากการดูลักษณะของพื้นที่ ซึ่งเป็นชุมชนแออัด เราจะไม่เน้นการรักษาที่บ้าน เนื่องจากมีความเสี่ยง ติดต่อกันภายในครอบครัว และความเสี่ยงต่อครอบครัวข้างเคียง ดังนั้นจำเป็นต้องส่งรักษาที่โรงพยาบาล หรือพื้นที่รองรับ ซึ่งหากตำบลปากน้ำชุมพร สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ เชื่อว่าสถานการณ์ของจังหวัดชุมพรจะคลี่คลายลง คือจะต้องมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 100 คนต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบบการรักษาสามารถรองรับได้ รวมถึงการฉีดวัคซีนต้องฉีดเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร สำหรับแนวทางที่ได้ดำเนินการในสถานการณ์ของพื้นที่ปากน้ำชุมพร จะเป็นแนวทางต้นแบบในการบริหารจัดการ หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก