ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน : 45 ปี ประเทศไทย กับ อาเซียน [4] โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

ปี 1994 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรายแรกในการจัดงานสำคัญเพื่ออาเซียนด้วยมติจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ ปี 1992 ประเทศไทยช่วยขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาคที่เรียกว่าประเทศคู่เจรจาให้กว้างขวางขึ้น และในวันที่ 25 กรกฎาคม 1994 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกของกลุ่มที่เรียกว่า ASEAN Regional Forum แปลว่า เวทีภูมิภาคอาเซียน เรียกย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ARF เรียกชื่อภาษาไทยเป็นทางการว่า “การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”

 

ARF เป็นที่พบปะเจรจาระหว่าง 10 ประเทศในอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา ซึ่งมี 10 ประเทศ ในการประชุม ARF ครั้งแรกที่กรุงเทพในปี 1994 ต่อมาถึงปี 2011 ARF มีสมาชิกรวม 22 ประเทศ กับอีก 1 กลุ่ม ประกอบด้วย 10 ประเทศในอาเซียน 9 ประเทศ กับ 1 กลุ่มประเทศ คู่ร่วมเจรจาของอาเซียน และ 2 ประเทศนอกภูมิภาค ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน คือ ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้), สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย, จีน, รัสเซีย, และ สหภาพยุโรป; ประเทศผู้สังเกตุการณ์คือ ปาปัวนิวกินี; ประเทศนอกภูมิภาค มี มองโกเลีย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)

 

ARF เป็นเวทีปรึกษาหารือ (consultative forum) เกี่ยวกับประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง โดยมุ่งที่จะส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศผู้เข้าร่วม และพัฒนาแนวทางการดำเนินการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ซึ่งมุ่งป้องกันการเกิดและขยายตัวของความขัดแย้ง และเมื่อผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายพร้อมและสะดวกใจ ARF ก็อาจพัฒนาเป็นเวทีหารือแนวทางยุติความขัดแย้งระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมได้

 

ประเทศไทย กับ วิสัยทัศน์อาเซียน 2020

 

เมื่ออาเซียนเดินทางมาครบ 30 ปี ประเทศไทยได้เสนอความคิดริเริ่มใหม่เรื่องสำคัญเป็นประวัติศาสตร์อาเซียนอีกครั้ง คือ “ASEAN Vision” หรือ “วิสัยทัศน์อาเซียน” ซึ่งเป็นการมองอนาคตอาเซียนกำหนดเป็นเป้าหมายระยะไกลไว้ในปี 2020/2563 เรียกว่า “ASEAN Vision 2020”

 

หรือ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020/2563” ครั้งที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทยนำเสนอเอกสาร “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 ณ กรุง กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 15 เดือนธันวาคม 1997/2540 แล้วอาเซียนก็รับรองวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ด้วยความมุ่งมั่นว่าอนาคตอาเซียนตามที่กำหนดไว้ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในประชาคมอาเซียน และความสัมพันธ์กับนานาประเทศนอกภูมิภาค จะก้าวหน้าไปอย่างเป็นระบบ ในทิศทางเดียวกัน

 

วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 อันเป็นผลพวงจากการริเริ่มของไทยในปี 1997 จึงนำไปสู่การประกาศปฏิญญา Bali Concord II เดือนตุลาคม 2003 ให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเป็นระบบตามขั้นตอนที่ตกลงกันในเบื้องต้นที่บาหลีและจะมีแผนงานโดยละเอียดในไม่นานข้างหน้า

 

บนเสาหลักแห่งการเมืองและความมั่นคง

บนเสาหลักแห่งเศรษฐกิจ, และ

บนเสาหลักแห่งสังคมและวัฒนธรรม

 

เป็นที่มาของคำอธิบายว่าประชาคมอาเซียนตั้งอยู่บนสามเสาหลักแห่งประชาคมดังที่กล่าวถึงกันหลงัจากปี 2003 เป็นต้นมา

 

วิสัยทัศน์แห่งประชาคมอาเซียนนำต่อไปสู่แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ เดือนธันวาคม 2004 ที่จัดทำร่างรายละเอียดแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ตามวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 จากนั้นก็นำต่อไปสู่คำขวัญใหม่ของอาเซียน ประกาศ ณ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกรุงกัวลาลัมเปอร์ เดือนธัันวาคม 2005 ว่า “One Vision, One Identity, One Community” หรือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม”

 

ที่กัวลาลัมเปอร์ครั้งนี้เองที่ผู้นำอาเซียนเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะร่นระยะเวลาเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ปี 2020 เข้ามาให้เร็วอีก 5 ปี เป็นปี 2015 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งในที่สุดที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ณ เมือง Cebu ระหว่างวันที่ 9-15 มกราคม ปี 2007 อาเซียนจึงตกลงประกาศปฏิญญาเซบู (Cebu Declaration) ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายในปี 2015

 

วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ยังคงอยู่ตามเดิมเป็นฐานแห่งอนาคตของอาเซียน แต่ประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวิสัยทัศน์อาเซียน ได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น 5 ปี

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก