ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน : 45 ปี ประเทศไทย กับ อาเซียน [2] โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

ปฏิญญากรุงเทพฯ ปี 2510/1967 ลงนามที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ ก่อตั้งสมาคมอาเซียน ตามความคิดริเริ่มของไทย มีเป้าประสงค์ 3 ใน 7 ข้อ ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ:

ปฏิญญากรุงเทพฯ ข้อแรกระบุว่าอาเซียนเกิดมาเพื่อ:

“เพื่อเร่งรัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาทางวัฒนธรรมในภูมิภาค เพื่อเสริมรากฐานสำหรับประชาชนเพื่อความรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งสหประชาชาติ”

วัตถุประสงค์ข้อที่ 3:

“ส่งเสริมความร่วมมือจริงจังในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม วิชาการวิทยาศาสตร์และการบริหาร”

ข้อ 5:

ให้สร้างความร่วมมือโดยเฉพาะในด้านการเกษตร และ อุตสาหกรรม ขยายการค้า ศึกษาปัญหาการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินค้าเกษตร ปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง และยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนในอาเซียน

จากความริเริ่มในปีแรกของอาเซียน ผลงานการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนพัฒนาไปอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายชัดเจน และประเทศไทยมีบทบาทนำในด้านเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ งานชิ้นสำคัญที่สุดที่รัฐบาลไทยนำเสนอและผลักดันจนประสพความสำเร็จ และเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่ประชาคมที่จะมีความมั่งคั่ง เจริญเติบโตในอนาคต และเริ่มเห็นผลชัดเจนแล้วในปัจจุบัน คือการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) ความคิดเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน มาจากประเทศไทย โดย ฯพณฯนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ของไทย ในปี 1992/2535 เกิดขึ้นในยามที่โลกเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า เปิดตลาดการค้าเสรีกันอย่างแข็งขัน ยุโรปสร้าง “European Economic Community” (EEC) หรือ “ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป” ตั้งแต่ปี 1957/2500 ขยายกลุ่มเป็นหลายประชาคมรวมกัน เรียกว่า European Communities” (EC) หรือ “ประชาคมยุโรป” เมื่อปี 1958/2502 แล้วมีพัฒนาการต่อมาเป็น “European Union” (EU) หรือ “สหภาพยุโรป” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 1993/2536 ก่อนหน้ากำเหนิดสหภาพยุโรป 1 ปี นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนของไทยเสนอต่ออาเซียนว่า อาเซียนควรจะรวมกันในเชิงตลาดการค้าเสรีทำนองเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในยุโรป เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาเซียนในด้านการค้าระหว่างประเทศ เป็นพลังเศรษฐกิจใหญ่ที่ทำให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกันมีพลังต่อรองทางการค้ากับภูมิภาคอื่นในโลก โดยเฉพาะกลุ่มประชาคมยุโรป ที่กำลังเตรียมการขยับขยายโครงสร้างสมาชิกภาพอยู่ในเวลานั้น ความคิดของไทยในตอนนั้นคือการเปิด “เขตการค้าเสรีอาเซียน” หรือ “ASEAN Free Trade Area” เรียกย่อว่า “AFTA” หากอาเซียนเห็นด้วยกับความคิดเรื่อง AFTA ที่ไทยเสนอ ก็จะได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น

ปริมาณการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองจะเพิ่มพูนมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลง จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น

ความคิดเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA เป็นที่ยอมรับของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ทันทีในปี 1992/2535 นั้นเอง สมาชิกอาเซียนซึ่งมี 6 ประเทศในเวลานั้น โดยบรูไนเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เป็นประเทศที่ 6 ในปี 1984/2527 ทั้งหมดตกลงที่เริ่มแผนงานการลดภาษีสินค้าระหว่างกันในลงมาที่ระหว่าง 5-0% ภายใน 10 ปี และตั้งเป้าไว้ว่าจะลดภาษีศุลกากรสินค้าทุกอย่างลงมาให้หมดถึง 0%  ภายในปี 2010/2553

 

หลังจากอาเซียนมีความตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA เพียงปีเดียว ประชาคมยุโรปก็ปรับโครงสร้างกลายมาเป็น “สหภาพยุโรป” หรือ “European Union” (EU) เป็นเขตการค้าเสรียุโรปที่มีสมาชิกมากถึง 27 ประเทศ

อีกหนึ่งปีถัดมา คือปี 1994/2537 Canada, Mexico และ สหรัฐอเมริกา ก็รวมตัวกันตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Area หรือ NAFTA)

สำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียนก็ค่อยๆพัฒนามาตามลำดับจนสามารถประกาศเป็นทางการได้ว่าเป็นเขตการค้าเสรีอาเซียนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010/2553 และจะพัฒนาไปสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ภายในปี 2015/2558

ในเดือนตุลาคม 1998/2541 มีการลงนามจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area-AIA) เพื่อขยายการลงทุนไปสู่การค้าการบริการเชื่อมโยงกับด้านอุตสาหกรรม ทำให้อาเซียนสามารถดึงดูดการลงทุนจากนอกภูมิภาคได้ดีมากขึ้น ในที่สุดก็จะนำไปสู่ตลาดการลงทุนเสรี  เปิดเสรีการลงทุนการค้าบริการเริ่มแรก 7 สาขา คือ:

การขนส่งทางทะเล

การขนส่งทางอากาศ

การเงินการคลัง

วิชาชีพธุรกิจ

การก่อ่สร้าง

การคมนาคม

การท่องเที่ยว

จากนั้นก็กำหนดจะเปิดเสรีทุกสาขาอาชีพอย่างสมบูรณ์ในปี 2020/2563 นอกจากนั้น ไทยก็ยังได้มีบทบาทสำคัญในการเสนอให้มีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และข้ามแดน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การขนส่งสินค้าภายในอาเซียนคล่องตัว รวดเร็ว ลดขั้นตอนทางการ ณ ทุกด่านสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน อันจะยังผลผลักดันให้เขตการค้าเสรีอาเซียนบรรลุเป้าหมายปลายทางอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในที่สุด ในหนังสือสรุปผลงานรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน พิมพ์เผยแพร่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 กล่าวตอนหนึ่ง (หน้า 65) ในเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนว่า:

“จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 4 ซึ่งมีในระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2553 ณ ประเทศสิงคโปร์ สิ้นสุดลงพร้อมกับการลงนาม และออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำประเทศภาคีสมาชิก 6 ประเทศ เพื่อแสดงเจตนารมย์ ในการผลักดันให้เขตการค้าเสรีอาเซียนก้าวหน้าต่อไป สู่ขั้นตอนการปฏิบัติจริง นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศแผนการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนทันที โดยลดภาษีขาเข้าให้เหลือ 30% ในวัน

ที่ 1 มกราคม 2536 และตั้งเป้าลดภาษีลงให้เหลือ 20% ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2537 อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการผลักดันการผลักดันแผนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นเป้าหมายใหม่สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภาคีสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 4 ไม่ใช่หลักประกันว่าจะประสพความสำเร็จ ก้าวใหม่ของอาเซียนจะมีทิศทางอย่างไร ต้องรอผลการประชุมสุด ยอดอาเซียนครั้งที่ห้า ซึ่งกำหนดมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในอีกสามปีข้างหน้า”

 

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

 

ที่มา: เดลินิวส์

วันที่: 15 สิงหาคม 2555

อ้างอิง: http://www.dailynews.co.th

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก