ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วิพากษ์แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษา

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวิพากษ์แผนยุทธศาสตร์  อาเซียนด้านการศึกษา โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการและทรงคุณวุฒิเข้าร่วม  เมื่อวันที่  ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพฯ

 

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสนี้ว่า ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี ๒๕๕๔  เพราะเป็นผู้ที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้สร้างความเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้การร่วมมือทางการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือของซีมีโอ และได้มีการพัฒนามาเป็นความร่วมมือทางด้านการศึกษาภายใต้อาเซียนในปัจจุบัน โดยดำเนินการในรูปแบบการแลกเปลี่ยนการศึกษาวิจัย บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และนักศึกษา ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการต้องเตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อนำแผนนั้นไปสู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ และสุดท้ายขอฝากถึงผู้นำให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการสร้างในการปรับตัว และเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคราชการ เอกชน สื่อมวลชน ในการเผยแพร่เรื่องอาเซียนและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ต่อไป

 

 

 

สำหรับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) หรืออาเซียน ประกอบด้วยประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาราม สปป.ลาว เวียดนาม และพม่า  ซึ่งก่อตั้งภายใต้ปฏิญญาอาเซียน หรือปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งประเทศสมาชิกรวมตัวกันเพื่อเร่งรัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ในภูมิภาค โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคบนความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  และหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน หรือ ปฏิญญาบาหลี เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนโดยมีเป้าหมายไปสู่การรวมตัวกันของอาเซียนในลักษณะการเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี ๒๕๕๘ โดยมี ๓ เสาหลักสำคัญที่เกี่ยวข้องกันคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

 

ทั้งนี้ที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนครั้งที่ ๖ได้รับรองแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปีด้านการศึกษา สำหรับเป็นกรอบการดำเนินการด้านการศึกษาของอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ คือ ๑.การเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียน ๒.เสริมสร้างโอกาสในการได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ๓.การเพิ่มคุณภาพการศึกษา การจัดมาตรฐานการศึกษา การศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนาอาชีพ ๔.การเคลื่อนย้ายพรมแดนและการจัดการศึกษาให้มีความเป็นสากล ๕.การสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรรายสาขาอื่นๆเพื่อพัฒนาการศึกษา

 

กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการศึกษาของชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนสู่เป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ภายใต้นโยบายหลัก ๕ ประการ คือ ๑.การเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อม ๒.การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสม ๓.การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ในอาเซียน ๔.การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียน ๕.การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 

สำหรับการจัดการประชุมเชิงในครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์แผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๓ ท่าน คือ รศ.ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล  และรศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล โดยมี   ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเวทีการวิพากษ์ได้มีข้อเสนอถึงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของคนให้มีทักษะ ความสามารถทางด้านภาษา  เทคโนโลยี ให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานในทุกระดับ

 

 

 

ที่มาของข่าว http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=23807&Key=news2
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก