ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศกพ.คพ.ต้องเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงวันที่ 1 - 7 ก.พ.นี้ จากสภาพอากาศลมมีกำลังอ่อนลง

วันที่ลงข่าว: 03/02/21

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต้องเฝ้าระวังฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์นี้ จากสภาพอากาศลมมีกำลังอ่อนลง                 

             นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ , นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ติดตามสภาพอากาศและฝุ่นละออง ผ่านศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายสภาวะอากาศและผลกระทบต่อการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ระหว่างวันที่ 1 - 7 กุมภาพันธ์นี้ ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ระดับเพดานการลอยตัวของฝุ่นละอองต่ำลง ทำให้แนวโน้มการสะสมของฝุ่นละออง PM 2.5 จะเพิ่มสูงขึ้นในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จึงจำเป็นต้องเน้นแก้ปัญหาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น รถยนต์ รถขนส่งสาธารณะในการตรวจเข้มเรื่องควันดำ หากพบเกินมาตรฐานจะสั่งปรับและสั่งห้ามใช้อย่างเด็ดขาดจนกว่าจะปรับปรุงสภาพรถยนต์ให้เรียบร้อย รวมทั้ง เส้นทางที่มีการจราจรติดขัดต้องขอความร่วมมือห้ามจอดตามพื้นที่ต่างๆ เช่น หน้าตลาด เพื่อให้การจราจรมีสภาพคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมที่เริ่มเพาะปลูกรอบใหม่จะมีการเผาในที่โล่งพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ดูได้จากการขึ้นบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบมีการเผาเป็นวงกว้างต้องให้กรมส่งเสริมการเกษตรประสานเกษตรจังหวัด อำเภอ และตำบลทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าไม่ได้ห้ามเผา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นช่วงที่อากาศปิดจึงต้องขอความร่วมมืองดการเผาช่วงนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้มากขึ้น                 

              ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงการป้องกันไฟป่าในพื้นที่เขตป่า ว่า กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ หากมีไฟป่าและลุกลามขึ้นไปบนเขาสูงชันจะควบคุมไฟป่าได้ยาก จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันลาดตระเวนกันมากขึ้น พร้อมทั้ง ประสานชุมชนในพื้นที่ป่าช่วยกันป้องกันไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้และพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากพบประเทศกัมพูชามีจุดความร้อน (Hotspot) สูงกว่า 4,000 จุด โดยกรมควบคุมมลพิษได้ทำจดหมายไปยังเลขาธิการอาเซียนแล้วเพื่อขอความร่วมมือกัมพูชาช่วยควบคุมและลดจุดความร้อน เพราะกระแสลมจะพัดเข้ามายังประเทศไทยส่งผลให้ค่าฝุ่นมีปริมาณที่สูงขึ้น จึงขอความร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก