ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ปลุกกระแสเมืองรองฯ เดินหน้า 'เมืองอัจฉริยะ'

วันที่ลงข่าว: 10/11/20
          การส่งเสริมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่เป็น “เมืองรอง” ในประเทศไทย หลายคนอาจมองไม่เห็นศักยภาพ แต่ถ้าหากมีการพัฒนาเพื่อดึงศักยภาพที่มีความโดดเด่น โดยผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจจะสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว หรือสินค้าภายในชุมชนได้ แต่เหนืออื่นใด การสร้างเมืองอัจฉริยะสมัยใหม่ไม่ได้เน้นเฉพาะรายได้เท่านั้น แต่บางเมืองก็เน้นความสุขของประชากรเป็นตัวตั้ง
คนอยู่ในเมืองได้มีความสุข
          ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า การส่งเสริมสร้างเมืองอัจฉริยะใน “เมืองรอง” ต่าง ๆ ไม่จำเป็นว่า ต้องพลิกโฉมเมือง แต่เราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างถูกหลักได้ เพื่อสร้างความสุขให้กับคนที่อยู่อาศัยในเมือง ขณะเดียวกันการทำงานในเมืองรอง
ไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นเมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีนำ แต่เน้นเอาความต้องการของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก จะต่างจากเดิมที่เรามักเน้นพัฒนาเมืองให้ล้ำสมัย เพื่อให้คนเข้าไปอยู่ในเมือง และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของเมืองมีปริมาณสูงขึ้น เช่น จีน เน้นการสร้างเมืองใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ล้ำสมัย เพื่อดึงดูดให้คนเข้าไปอยู่ในเมืองมากขึ้น  แต่แนวคิดของเมืองอัจฉริยะยุคใหม่ บางครั้งก็ไม่ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่คนอยู่ในเมืองมีความสุขด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาอำนวยความสะดวก
          การสร้างเมืองอัจฉริยะ จะประกอบด้วยคนที่พัฒนาเมือง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นคนที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ การสร้างเมือง ออกแบบเมือง ขณะที่ กลุ่มสองเป็นคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยี เดิมคนสองกลุ่มนี้อาจจะต่างคนต่างพัฒนา แต่การจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้มีรากฐานที่เข้มแข็งได้ต้องมีคนที่เป็น “ตัวกลาง” คอยประสานคนทั้งสองกลุ่มนี้ให้มีศักยภาพ โดยหน่วยงานพยายามเข้าไปพัฒนาคนที่จะเป็นตัวกลาง และฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนา
          ขณะเดียวกัน “เมืองรอง” โดยเฉพาะในไทยคนที่เป็นแกนกลางที่ประสานคนที่มีความรู้ของทั้งสองกลุ่ม สามารถทำได้ทันที เพราะเมืองที่ทำงานยาก ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่คนมีความสุดโต่ง เช่นในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร หรือสิงคโปร์ ที่คนมีความสุดโต่งด้านเทคโนโลยี การพัฒนาในเมืองรอง เพื่อยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะ สิ่งสำคัญจะต้องคิดถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งบางเมืองที่เคยเข้าไปทำงานด้วย อาจไม่ต้องการรถไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ต้องการเทคโนโลยีง่าย ๆ ที่เข้ามาช่วยทำการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนมาก แต่ได้ผลเร็ว
          ในเมืองรองหลายจังหวัด ชาวบ้านต้องการ “สมาร์ทฟาร์ม” ที่ช่วยส่งเสริมรายได้ในการทำการเกษตร แต่ในขณะเดียวกันเมืองเหล่านี้ก็ต้องตอบโจทย์ในกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ โดยเมืองต้องตอบสนองความต้องการของคนทุกวัย ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน
 
ไม่จำเป็นปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
          ดร.ภาสกร มองว่า เมืองอัจฉริยะที่ดี ไม่จำเป็นว่าประชาชนที่อาศัยอยู่เดิมจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อรองรับกับเทคโนโลยี แต่เขาสามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิม แต่ชีวิตดีขึ้น เช่น ขยะในเมืองลดลง เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการจัดเก็บในเมือง บางครั้งคนในเมืองก็ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่า ขยะที่เคยมีอยู่เยอะหายไปไหน สำหรับการทำงานในเมืองรองที่ผ่านมา เราพยายามสร้างคนที่เป็นตัวกลางเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยคนที่เป็นตัวกลางต้องมีบุคลิกที่พร้อมจะเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยีไม่ใช่ว่า จะต้องเอาเทคโนโลยีนำอย่างเดียว แต่ต้องเปิดใจรับความเป็นวิถีชีวิตของคนในเมืองด้วย เพราะในเมืองรองบางแห่งคนในเมืองก็กลัวว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายอัตลักษณ์ของเมือง จนบางครั้งมีการต่อต้านได้
          ดังนั้น การสร้างคนที่เป็น “ตัวกลาง” ในเมืองรอง ก่อนอื่นต้องสร้างความรู้ที่ถูกต้องก่อน จากนั้นต้องมีการทำงานร่วมกันว่าจะต้องทำอย่างไร สิ่งสำคัญในประเด็นการสร้างเมืองอัจฉริยะ คือ คนที่เข้าร่วมจะได้มาเรียนรู้ สิ่งนี้ทำให้หน่วยงานได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ความรู้ มีการโรดโชว์ในเมืองรองต่าง ๆ และต่อมาก็ได้ประสานนำภาคเอกชนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีเข้ามาให้ความรู้ และสร้างการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยเอกชนส่วนใหญ่ที่มาเข้าร่วมจะเป็นสตาร์ทอัพ
 
เทคโนโลยีใหม่กระจายถึงท้องถิ่น
          จากการทำงานกับเมืองรองมา “จุดเด่นของเมือง” จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต่างจากเมืองขนาดใหญ่ ที่มักจะถูกส่วนกลางกำหนดมาว่า เมืองจะต้องเป็นเมืองท่า หรือเมืองอุตสาหกรรม แต่เมืองรองประชาชนมีสิทธิที่จะกำหนดตัวเองได้ว่า จะเป็นเมืองอัจฉริยะที่เน้นคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยว หรือเป็นเมืองตากอากาศของผู้สูงอายุ  ตอนนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ราคาถูกลงเรื่อย เช่น ซอฟต์แวร์ เราสามารถออกแบบให้มันฉลาดขึ้นกว่าเดิมได้ ขณะเดียวกันในเมืองรองก็ง่ายต่อการทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การทดลองบินโดรน ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ในเมืองใหญ่ เพราะมีเขตห้ามบิน หรือสัญญาณอาจจะถูกรบกวนได้ แต่ในเมืองรองเราสามารถทดลองบินได้ง่ายกว่า
ดร.ภาสกร เล่าถึงการพัฒนาเมืองว่า การทำเมืองอัจฉริยะในเมืองรอง ระบบสาธารณูปโภคสมัยนี้ไม่เป็นอุปสรรคเหมือนในอดีต เนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนหลายเจ้าที่ทำเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ได้วางระบบต่าง ๆ ไว้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ในอนาคตระบบฟรีไวไฟจะครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น และเป็นเรื่องง่ายที่คนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ภายใต้ระบบเมืองอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น ดังเช่นการทำงานที่ผ่านมากับ “เมืองน่าน” คนท้องถิ่นต้องการให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้านการเรียนรู้ และภูมิปัญญาคนท้องถิ่น จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการศึกษา รวมถึงการออกแบบเมืองให้มีเทคโนโลยีที่รองรับผู้สูงอายุที่จะมาท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก
          นี่จึงเป็นโมเดลที่ผลักดันให้  “เมืองรอง” มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นไปตามความโดดเด่นของท้องถิ่น เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แต่งแต้มทั้งรอยยิ้ม ความสุขใจของคนในเมืองได้อย่างคาดไม่ถึง
ที่มาของข่าว https://www.dailynews.co.th/article/805674
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก