ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตรวจเยี่ยมติดตามกลุ่มผู้สูงอายุ จักรสานหวดและกระติบข้าวเหนียวภูมิปัญญาอีสานล้านนาประยุกต์

วันที่ลงข่าว: 02/03/20

        นายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ตรวจเยี่ยมกลุ่มผู้สูงอายุชาวผู้ไท (อีสานล้านนา) และกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชาติพันธุ์ผู้ไท ณ หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนโอทอปนวัตวิถี บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง (จำไก่) หมู่ที่ 5 ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา  ผู้สูงอายุที่จักสานกลุ่มนี้ได้ผ่านการฝึกอาชีพเสริม สาขา การจักสานกระติ๊บและหวดนึ่งข้าวเหนียว ผลิตภัณฑ์จักสานที่เป็นสินค้าหลักประจำชุมชนชาวผู้ไทบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง คือ หวดนึ่งข้าวเหนียว และกระติบใส่ข้าวเหนียว ที่ใช้ลวดลายภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาประยุกต์ร่วมกับภูมิปัญญาภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการทำหวด (มวย) นึ่งข้าวเหนียว ผู้สูงอายุมีความชำนาญในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การจักส่วยตอก การจักตอก การก่อหวด การสานหวด การไพหวด การม้วนหวด 

        นอกจากนี้ ยังสามารถดัดแปลงหวดนึ่งข้าวเหนียว เป็นโคมไฟประดับตกแต่งในรีสอร์ท โรงแรม ทีพัก และโฮมสเตย์ หรือดัดแปลงเป็นหน้ากากสวมศีรษะในลักษณะประยุกต์จากภูมิปัญญาผีตาโขนของจังหวัดเลย รวมถึงการสานกระติ๊บข้าวเหนียวแบบมีฝาปิด และภาชนะใส่ของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ เช่น แบบสี่เหลี่ยม แบบหกเหลี่ยม แบบวงกลม และแบบโปร่ง ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกจึงได้มีโอกาสใช้เวลาว่างร่วมกันจักสานหวดและกระติบข้าวเหนียวเพื่อจำหน่ายในจังหวัดพะเยา และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นของใช้จำเป็นประจำวันในวิถีชีวิตของชาวล้านนาที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นประจำ รวมถึงสามารถจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ สามารถสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการประกอบอาชีพหลักในภาคการเกษตรได้เดือนละ 4,000-7,000 บาทต่อคน             

        สำหรับสมาชิกกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าประจำชาติพันธุ์ผู้ไท (อีสาน-ล้านนา) ได้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาเย็บจักรอุตสาหกรรม และได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา ช่างเย็บ ระดับ 1 ในงบประมาณปี 2562 สามารถสร้างรายได้เสริมจากการตัดเย็บเสื้อผ้าชาติพันธุ์ผู้ไท จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเสริมจากอาชีพหลักภาคการเกษตร อีกเดือนละประมาณ 3,000-4000 บาทต่อคน โดยใช้เวลาว่างช่วงเย็น และช่างว่างจากกิจกรรมภาคการเกษตรให้เป็นประโยชน์ รวมถึงมีสมาชิกบางคนได้ไปรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานในต่างจังหวัด ซึ่งได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ วันละ 345 บาท อีกด้วย         

        ชุมชนชาวผู้ไท (อีสานล้านนา) บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง ได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจักสาน กับศูนย์เรียนรู้ชุมชนกลุ่มทอผ้า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชาติพันธุ์ผู้ไท กลุ่มแกะสลักไม้ กลุ่มโปงลาง กลุ่มทอเสื่อกกและโฮมสเตย์ กลุ่มแปรรูปสมุนไพร/อบสมุนไพร กลุ่มนวดสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านย่ำข่าง และกลุ่มนวดแผนโบราณ ผู้ตรวจกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเยี่ยมกลุ่มอาขีพแรงงานนวดพิการคุณภาพ                  

        นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าตรวจเยี่ยมกลุ่มอาชีพหมอนวดคนพิการบ้านถ้ำ ซึ่งเกิดขึ้นโดยการรวมตัวของกลุ่มพนักงานนวดพิการและผู้ดูแลคนพิการที่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับ 1 และระดับ 2 จากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยาในปีงบประมาณ 2561-2562 เพื่อสุขภาพและนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านถ้ำ และตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ โดยมีจุดให้บริการของกลุ่มฯ หลัก 2 จุด คือ ศูนย์บริการคนพิการฯ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านถ้ำ หมู่ที่ 3 ต.บ้านถ้ำ และโฮมสเตย์สายลมจอย ชุนชุนโอทอปนวัตวิถีบ้านหนองหล่ม ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีจุดเด่นด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร การแพทย์แผนไทย และการนวดสปาเพื่อสุขภาพ โดยมีรายได้สุทธิ ประมาณ 360-540 บาทต่อวัน แต่ถ้ามีนักท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์ หรือลูกค้าวีไอพีมาใช้บริการนวดในห้องวีไอพี จะมีรายได้สุทธิสูงถึง 480-660 บาทต่อวัน (แบ่งรายได้เป็นผู้นวด 6 ส่วน รพ สต หรือศูนย์บริการคนพิการ 4 ส่วนเพื่อเป็นค่าน้ำมันหอมระเหย สมุนไพร ลูกประคบ ค่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าเครื่องปรับอากาศในกรณีห้องนวดแขกวีไอพี)

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก