ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปิดวาร์ปป้ายรถเมล์โฉมใหม่ ผู้โดยสารต้องถูกใจสิ่งนี้

วันที่ลงข่าว: 11/02/20
          ผู้โดยสารต้องร้องว้าว! “ป้ายรถเมล์” โฉมใหม่ ไม่เหมือนป้ายรถเมล์ในจุดอื่นๆ ที่เคยเห็นมาก่อน พร้อมความพิเศษสุดๆ ของม้านั่ง
 
ป้ายรถเมล์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ
สัปดาห์นี้จะพาไปเปิดวาร์ปศาลาที่พักผู้โดยสาร หรือที่เรียกกันชินปากว่า “ป้ายรถเมล์” โฉมใหม่ รับรองว่าไม่เหมือนป้ายรถเมล์ในจุดอื่นๆ ที่เคยเห็นหรือเคยใช้งานกันมาก่อนแน่นอน จะมีความพิเศษขนาดไหน?? และความพิเศษที่ว่านี้คืออะไร ??? รับรองผู้โดยสารถูกใจสิ่งนี้แน่นอน!!
          กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ปรับปรุงขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์) ระยะทาง 7.602 กม. ขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ หรือด้านละ 3 ช่อง เสร็จเรียบร้อยโดยเปิดบริการเมื่อปลายปี 62 ที่ผ่าน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ “ปีหนูร่าเริง” ให้กับประชาชน
โครงการขยายถนนกัลปพฤกษ์ (ช่วงกาญจนาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์) เป็นโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตปริมณฑล ซึ่งเดิมถนนกัลปพฤกษ์มี 4 ช่องจราจรไปกลับ ด้านละ 2 ช่อง มีจุดเริ่มต้นที่ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) สิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์บริเวณสวนเลียบ มีปัญหาการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น เนื่องจากการขยายตัวด้านอสังหาริมทรัพย์ 2 ข้างทางแบบก้าวกระโดด มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดใหม่ผุดขึ้นมากมาย
           แม้ที่ผ่านมา ทช. จะก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกถนนสุขาภิบาล 1 และถนนกำนันแม้นแล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถนนเดิมเกินความจุของปริมาณรถ จึงต้องแก้ไจทย์ด้วยการเพิ่มเลนเพิ่มการระบายรถให้มากขึ้น โดยใช้เขตทางเดิมใช้งบประมาณก่อสร้าง 476 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำ ทางเดินเท้า ปรับปรุงคอสะพานตลอดเส้นทาง ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่สำคัญยังก่อสร้างศาลาพักคอยรถประจำทางโฉมใหม่ 16 หลัง บนทางเท้าของถนนทั้ง 2 ฝั่งฝั่งละ 8 หลัง วงเงินรวม 1,638,112 ล้านบาท หรือหลังละ 102,382 บาท แล้วเสร็จหลังการขยายถนนและเปิดให้ใช้งานแล้วในวันนี้ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของป้ายรถเมล์ เนื่องจากได้ออกแบบการจัดวางเก้าอี้นั่งใหม่หันขวางให้ผู้รอรถเมล์มองถนนและรถที่กำลังวิ่งเข้าป้ายได้สะดวกขึ้น พร้อมเอื้ออำนวยผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการเพิ่มราวจับข้างที่นั่งสำหรับช่วยพยุงตัว สำหรับโครงสร้างศาลาที่พักมีขนาดความกว้าง 3.20 เมตร ยาว 5 เมตร มีหลังคากันแดดกันฝนรวมถึงไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มความปลอดภัยในเวลากลางคืนด้วย
          ไอเดียใหม่นี้ ทช.ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นต้นแบบ(โมเดล) ป้ายรถเมล์ในอนาคตที่สอดคล้องกับการใช้งานของผู้โดยสาร แหล่งชุมชน และตำแหน่งที่หยุดรถประจำทางเพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์
หลังเปิดใช้บริการได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เนื่องจากม้านั่งจัดวางให้กันนั่งมองรถเมล์ที่จะเข้าป้ายได้ชัดเจน ไม่ต้องเอี้ยวคอหรือคอยชะเง้อมองให้เมื่อยคอเมื่อยตา ผู้สูงวัยมีราวจับช่วยประคองตัว ที่สำคัญหากเกิดเหตุอันไม่คาดฝัน เช่น รถเมล์เสียหลักหรือเบรกแตกพุ่งชนป้านรถเมล์ ผู้โดยสารจะระมัดระวังรู้ตัวและหลบได้ทัน พร้อมมีข้อเสนอให้ทช.ก่อสร้างเสากั้นรถพุ่งชนเหมือนในต่างประเทศด้วย
          อย่างไรก็ตามประชาชนบางส่วนมองว่า ค่าก่อสร้างต่อหลังแพงไปหรือไม่?? รวมถึงไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานเพื่อคนทั้งมวล ไม่มีทางลาดสำหรับผู้พิการวีลแชร์ เก้าอี้และเสาพยุงตัวปิดทับเส้นสีเหลืองสำหรับผู้พิการทางสายตาบางส่วน และเห็นว่าประชาชนควรระแวดระวังมองซ้ายขวาหน้าหลังไม่จดจ่อในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
           นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท บอกว่า ทช.ยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน เพื่อนำมาประเมินผลว่าผู้ใช้งานมีความพึงพอใจและสอดคล้องกับความต้องการหรือไม่ จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนพิจารณาขยายผลไปก่อสร้างในโครงการถนนสายอื่นในความรับผิดชอบของทช.ต่อไป เบื้องต้นการก่อสร้างศาลารูปแบบใหม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่พอสมควร ดังนั้นการขยายผลต้องพิจารณาเรื่องของพื้นที่เป็นสำคัญด้วย
          ป้ายรถเมล์แห่งนี้ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่แห่งการเดินทาง แม้จะผ่านมากว่า 100 ปีที่ประเทศไทยมีรถเมล์บริการ เพิ่งคิดกันได้ว่า...ควรจะหัน”เก้าอี้”ไปทางรถโดยสารก็ตาม.
................................
คอลัมน์ : มุมคนเมือง
โดย "เทียนหยด"
ที่มาของข่าว https://www.dailynews.co.th/article/756790
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก