ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มูลนิธิขาเทียมฯ จัดทำขาเทียมให้คนพิการขาขาดในจังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียงฟรี

วันที่ลงข่าว: 11/02/20

            มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดทำโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ระหว่างวันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้คนพิการขาขาดได้มีขาเทียมที่มีมาตรฐาน โดยไม่คิดมูลค่า 

            นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการทำขาเทียมพระราชทาน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ โดยมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 155 ระหว่างวันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทำขาเทียมให้คนพิการขาขาดในจังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ใกล้เคียง ทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า ทั้งนี้ มีพลโทนายแพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ รองประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร คณะช่างกายอุปกรณ์ ทีมงานจากมูลนิธิขาเทียมฯ และจากกระทรวงสาธารณสุขร่วมในพิธี โดยในเบื้องต้นมีคนพิการขาขาดที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าจากทั้งหมด 17 อำเภอ จำนวน 148 ราย ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจประเมินจากแพทย์แล้ว จะสั่งทำขาเทียมและทำพิธีมอบขาเทียมในวันที่ 14 ก.พ. นี้ ส่วนผู้พิการที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า หากเข้ามารับบริการในช่วงดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ ก็จะทำขาเทียมให้ทุกคนด้วย

           ด้านพลโทนายแพทย์ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ รองประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ความพิการที่เกิดจากการสูญเสียอวัยวะโดยเฉพาะขา เป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหว ทำให้เป็นปัญหาในการดำรงชีพ เกิดเป็นภาระแก่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งพบว่า คนพิการขาขาดมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ขาเทียมเป็นอุปกรณ์ด้านกายอุปกรณ์ที่ยากต่อการจัดหา เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงและยากในการเข้าถึงการรับบริการ ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิขาเทียมฯ จึงได้จัดตั้งขึ้น เมื่อ 17 สิงหาคม 2535 สำหรับจัดทำขาเทียมขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหานี้ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการขาขาด ซึ่งมีปริมาณมากขึ้น โดยมูลนิธิขาเทียมฯ ได้จัดทำขาเทียมที่มีมาตรฐานในราคาประหยัด โดยผลิตหรือปรับปรุงจากวัสดุที่หาได้ในประเทศ สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้พิการขาขาด ที่ต้องการรับบริการ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนา โดยไม่คิดมูลค่า ทำให้ผู้พิการขาขาดได้รับมอบขาเทียมที่ดี มีคุณภาพ ได้พ้นจากความทุกข์จากการเป็นบุคคลทุกพลภาพ ไม่สามารถเดินได้ ได้กลับมามีชีวิตที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนได้เห็นการให้โอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติในสังคม มีโอกาสประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก