ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อบจ.สงขลา จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา

วันที่ลงข่าว: 19/09/19

          อบจ.สงขลา จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งพัฒนาชายแดนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมการค้า การลงทุน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งพัฒนาชายแดนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมการค้า การลงทุน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          ช่วงเช้าวันนี้ (18 ก.ย. 62) ที่ห้องทัพพ์วริศ โรงแรมเดอะเบด เวเคชั่น ราชมังคลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบริหารงานบุคคล องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนในพื้นที่ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

          นายวิโรจน์ ทัฬหะวาสน์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านบริหารงานบุคคล กล่าวว่า การประชุมสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดน ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการค้าและการลงทุน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้กำหนดให้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น รวม 10 พื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา จัดอยู่ในระยะแรก เนื่องจากมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาของพื้นที่

          โดยด่านศุลกากรสะเดา มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้า สูงเป็นอันดับ 1 มีจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านเข้าออก ด่านศุลกากรสะเดา ปีละกว่า 5,000,000 คน เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาโครงการในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาด่านศุลกากร การพัฒนาโครงข่ายถนนและมอเตอร์เวย์ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ การพัฒนาท่าเรือ รวมไปถึงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า

          สำหรับโครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่มีรูปแบบการดำเนินการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสารและสินค้า โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยการประชุมเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน ในวันนี้ (18 ก.ย. 62) เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องรวมถึงสถาบันการเงิน ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ตลอดจนกรอบแนวคิดแนวทางการดำเนินงาน และกรอบเวลา สำหรับการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชนในการร่วมลงทุนกับภาครัฐให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้และความต้องการของภาคเอกชน เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ขณะที่นางสาวชัญญณัท ทองคณารักษ์ หัวหน้าฝ่ายวางผังพัฒนาเมือง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองผังเมือง กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เพื่อสนับสนุนการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เสริมสร้างให้เกิดการจ้างงาน การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวของภูมิภาคในพื้นที่ระดับจังหวัดและเมืองชายแดน และในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 โดยได้มอบหมายให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ดำเนินโครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (สถานีขนส่งผู้โดยสาร และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวครบวงจร) บริเวณที่ราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 126 ไร่ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

          ปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ โดยผลการศึกษาได้เสนอการพัฒนาโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) และตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องว่าจ้างที่ปรึกษา ร่วมจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมทุน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท อินฟรา พลัส คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นที่ปรึกษา

          โดยในขั้นตอนของการศึกษาจะต้องจัดให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการศูนย์คมนาคมขนส่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันทางการเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ เป็นการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันทางการเงิน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปออกแบบโครงสร้างของรูปแบบการให้เอกชน มีส่วนร่วมดำเนินงานฯ รวมทั้งเป็นการดำเนินการ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก