ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กสศ. ร่วมกับ 73 หน่วยพัฒนาอาชีพทั่วประเทศ สร้างระบบต้นแบบยกระดับทักษะอาชีพแรงงานยากจน ด้อยโอกาส ให้เป็นแรงงานฝีมือ ตั้งเป้าปีแรกช่วยเหลือมากกว่า 6 พันคน

วันที่ลงข่าว: 19/09/19

        ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)และที่ปรึกษาคณะกรรมการ กสศ. กล่าว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาส ว่า กสศ.ร่วมกับเครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพ จำนวน 73 แห่ง ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาระบบตัวอย่างการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีชุมชนเป็นฐาน มุ่งยกระดับฝีมือแรงงานระดับ 1.0 และ 2.0 ไม่จำกัดอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาท รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องขัง ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม หัตถกรรม เน้นการใช้แรงงานหนักและราคาถูก ให้มีทักษะสูงขึ้น มีงานทำ มีโมเดลธุรกิจของตัวเอง มีรายได้สูงขึ้น โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการระดับตำบลหรือเทศบาลจำนวนกว่า 76 ตำบล ใน 42 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค ในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 6,239 คน

         ที่ปรึกษา กสศ. กล่าวอีกว่า เครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพทั้ง 73 แห่ง จะจับคู่กับชุมชนดำเนินงานยกระดับทักษะการประกอบอาชีพให้กับแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ซึ่งธุรกิจชุมชนเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญที่สุดในพื้นที่ชนบท โครงการจะส่งเสริมให้ชุมชนและสถานประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดเป็นเครือข่ายจับคู่การพัฒนา เช่น การร่วมเป็นวิทยากร การใช้สถานที่ฝึกงาน และการสมทบทรัพยากรในรูปแบบที่เป็นไปได้ มุ่งเน้นกระบวนการเสริมศักยภาพของชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานข้อมูล ความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากร สร้าง Creative Space ที่มีการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ มุ่งเป้าตรงตามความต้องการของชุมชนหรือตลาดแรงงานท้องถิ่นร่วมไปกับการสร้างพื้นฐานทักษะอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ขนาดย่อมในชุมชน

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก