ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แผ่นปูทางเท้าผู้พิการสายตา นวัตกรรมรีไซเคิลจากขยะโฟม

วันที่ลงข่าว: 10/09/19

ขยะเป็นปัญหาที่ทุกเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะขยะจากถุงพลาสติกและโฟม เพราะเป็นภาชนะใส่อาหารที่ทุกคนต้องกินต้องใช้ในทุกวัน   

           จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2558 มีปริมาณขยะโฟมพอลิสไตรีนเกิดขึ้น 2-3 ล้านตัน หรือ 3,678 ตันต่อวัน และในปี 2559 มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 3,704 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โฟมเป็นขยะที่มีสารก่อมะเร็งและสารอันตรายต่อสุขภาพ และคงต้องบอกซ้ำทั้งที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า ขยะโฟมกำจัดยากซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานกว่า 450 ปี    

           ขยะเป็นปัญหาใหญ่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งบนบก ทะเลและอากาศ นักวิจัยและวิศวกรทั่วโลกต่างหาทางที่จะลดขยะที่ก่ออันตรายต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุศาสตร์ หรือ Material Science ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาหลายเทคโนโลยี โดยใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัสดุและกระบวนการจากพหุศาสตร์หลายสาขา ตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบ กระบวนการขึ้นรูป จนถึงการออกแบบคุณสมบัติและการใช้งานของวัสดุที่ผลิตออกมา 

           โลกของวัสดุศาสตร์ในประเทศไทยวันนี้ ก้าวไกลด้วยพลังของทีมนักวิจัยรุ่นใหม่จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย อาจารย์พิมพ์วลัญช์ สุตะโคตร และทีมนักศึกษา ได้แก่ นายกายสิทธิ์ เรืองชัยศิริเวท, นายพงศธร ธนะประเสริฐกุล, นายสำคัญสุด สีหตุลานนท์, นางสาวลักษมณ นุชโสภา และ นางสาวศศิ ศาสตร์ปรีชา โดยการสนับสนุนของ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้นจากแนวความคิดในการนำขยะโฟมพอลิสไตรีนมารีไซเคิล ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรม “แผ่นปูทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาและแผ่นไฟเบอร์บอร์ดจากโฟมรีไซเคิล” ซึ่งคว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรม Mahidol Engineering Awards 2019 มาแล้ว

           นายกายสิทธิ์ เรืองชัยศิริเวท หนุ่มนักศึกษาในทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันนิยมนำโฟมพอลิสไตรีนมาใช้งานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสะดวกสบายในการใช้งาน มีน้ำหนักเบา หาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะนำมาเป็นภาชนะบรรจุอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง หรือนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์กันกระแทก (Cushioning) จึงเกิดแนวคิดในการนำกลับมาใช้ใหม่ 

           ทีมนักวิจัยได้คิดค้นวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม “แผ่นปูทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาและแผ่นไฟเบอร์บอร์ด จากโฟมรีไซเคิล” โดยการละลายโฟมพอลิสไตรีนในตัวทำละลายธรรมชาติ และเพิ่มสมบัติทางกลด้วยการเสริมแรงด้วยเส้นใยธรรมชาติ ที่อัตราส่วนต่าง ๆ แล้วนำไปทดสอบความต้านทานแรงดึง ความยืดเมื่อขาด การเร่งการเสื่อมอายุ มอดุลัสกดอัด การดูดซับน้ำ เป็นต้น

           นายพงศธร ธนะประเสริฐกุล และ นายสำคัญสุด สีหตุลานนท์ นักศึกษาทีมวิจัยคนรุ่นใหม่ เผยวัตถุดิบและกระบวนการผลิตว่า วัสดุที่นำมาใช้ ได้แก่ โฟมพอลิสไตรีน, ตัวทำละลายธรรมชาติ ที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ, เส้นใยธรรมชาติ กระบวนการผลิต สามารถทำได้โดยการตัดโฟมพอลิสไตรีนให้มีขนาดเล็ก และทำการละลายโฟมพอลิสไตรีนด้วยตัวทำละลายธรรมชาติที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นทำการเติมเส้นใยธรรมชาติที่อัตราส่วนต่าง ๆ และนำไปขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ที่อุณหภูมิห้อง 

           ด้านอาจารย์พิมพ์วลัญช์ สุตะโคตร กล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ใช้งานได้หลากหลายเหมาะกับงานภายในอาคาร โดยสามารถนำไปปูทับกับคอนกรีตพื้นเรียบได้เลย หรือนำไปใช้กับผนังบ้านและอาคารได้อีกด้วย โดยต้องปูพื้นผนังให้เรียบก่อน ปัจจุบันนวัตกรรมแผ่นปูทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาและแผ่นไฟเบอร์บอร์ด จากโฟมรีไซเคิล ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แผ่นปูทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งดีไซน์ให้มีพื้นผิวเป็นปุ่ม, แผ่นไฟเบอร์บอร์ดกันความชื้น, แผ่นไฟเบอร์บอร์ดกันเสียง นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มตลาดดี โดยปัจจุบันตลาดไฟเบอร์ซีเมนต์ในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 1.45 หมื่นล้านบาท

          นับเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ ที่นอกจากจะตอบโจทย์กระแสการใช้ประโยชน์จากวัสดุอย่างคุ้มค่าที่สุด การนำขยะมารีไซเคิล ยังเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดภาระของโลกที่มีต่อขยะโฟมได้อีกด้วย

ที่มาของข่าว https://www.dailynews.co.th/article/730142
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก