ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการดูแลสุขภาพ

วันที่ลงข่าว: 06/09/19

        สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยในห้วงที่ผ่านมาในหลายพื้นที่หลายจังหวัด โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหา ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งเดินทางไปตรวจสถานการณ์และเยี่ยมประชาชน ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกนั้น

        โดยรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมออก 7 มาตรการ เยียวยาผู้ประกอบการประสบอุทกภัยทุกกลุ่ม ทุกมิติ เน้นทำทันที ซ่อม-สร้าง–ฟื้นฟู ผู้ประกอบการทุกพื้นที่หลังน้ำลด พร้อมส่งทีมเฉพาะกิจเข้าซ่อมแซมเครื่องจักรโรงงาน กิจการ SME ฟื้นฟูสถานประกอบการให้กลับมาดำเนินกิจการโดยเร็วที่สุด พร้อมช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดดอกเบี้ย ปล่อยกู้วิสาหกิจประสบภัย ยกเว้นค่าธรรมเนียมเครื่องจักร

        ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อน จำเป็นในครัวเรือนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้นหากเกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ทันทีหรือที่ Call Center 02-5550555

        กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ โดยจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา กรณีพื้นที่ดำเนินการเพาะปลูกมีพืชตาย หรือเสียหายสิ้นเชิง ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งกำหนดให้นาข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเกิดภัย จนถึงการอนุมัติงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือและเบิกจ่ายเงินทดลองราชการแก่เกษตรกร

        ด้านการดูแลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต แนะ 6 วิธี 3 ห้าม รับมือภัยน้ำท่วม คือ 1. เตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย เน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา 2. สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด อย่างน้อย 3 วัน 3. เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย 4. ผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันสูญหาย 5. จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น และ 6. จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น ญาติสนิท เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสายด่วน 1784 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ 3 ห้าม คือ 1. ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหลแม้ระดับน้ำจะไม่สูง เนื่องจากความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้ 2. ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมเพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ และ              3. ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ

        โดยในส่วนของชุมชน ให้เตรียมพร้อมล่วงหน้า 3 ประการ คือ 1. จัดเตรียมแผนการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะความปลอดภัยกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ช่วยกันเฝ้าระวังทรัพย์สินในชุมชน 2. จัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำ และแจ้งเตือนชุมชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง 3. จัดเตรียมศูนย์กลางให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกและประสานกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลกันในเบื้องต้นได้รวดเร็วและทั่วถึงที่สุด

        กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก สามารถปฏิบัติได้โดย 1. อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2. อย่าปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัดต่อยได้ 3. หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้า และดวงตาให้สะอาด 4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง และ 5. หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

        วิธีการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแนะวิธีใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยหากเกิดน้ำท่วม โดยก่อนเกิดน้ำท่วม ให้ปลด Main Switch ก่อนอพยพ , ย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ให้น้ำท่วมถึง ขณะน้ำท่วม บ้านชั้นเดียว งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด และย้ายของออกจากบ้าน บ้าน 2 ชั้น ควรมีสวิทช์แยกแต่ละชั้น ปลดสวิทช์เบรกเกอร์ชั้นล่างเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า ห้ามใช้ปลั๊กและสวิตช์ไฟฟ้าที่น้ำท่วมถึงเด็ดขาด อย่าสัมผัสสวิทช์และงดใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกหรือสัมผัสน้ำ หลังน้ำท่วม เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ควรให้ช่างตรวจสอบแก้ไขให้มั่นใจเสียก่อน ก่อนนำมาใช้งาน

        อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ซึ่งอยู่ในฤดูฝน ขอให้ประชาชนติดตามคาดหมายลักษณะอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีฝนตกหนักน้ำท่วมขังควรดูแลสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก