ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถานีพัฒนาสังคม: การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

วันที่ลงข่าว: 03/09/19

วันเสาร์ ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 06.00 น. (ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

          ๙.ผู้แทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ได้ให้ข้อมูลว่า

- ต้องการให้กฎหมายที่ออกมามีผลบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมให้กับผู้ที่ท้องไม่พร้อมในทุกช่วงวัยไม่เฉพาะเจาะจงในกลุ่มวัยรุ่นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ประเด็นหลักของกลุ่มผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมส่วนใหญ่เกิดจากยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการป้องกัน เนื่องจากไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา จึงนำไปสู่การทำแท้งเพราะไม่มีความพร้อมในการตั้งครรภ์

- การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้หยิบยกร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อนำไปสู่การให้การศึกษาแก่สังคม และเพิ่มความรับผิดชอบของเพศชายที่เป็นต้นเหตุของการทำให้ผู้หญิงท้อง นัยสำคัญของทั้ง ๒ ร่างพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนของบทกำหนดโทษควรเพิ่มโทษที่รุนแรงสำหรับเพศชาย ไม่ใช่เพียงแค่ระวางโทษจำคุก หรือปรับเท่านั้น และควรเพิ่มความรับผิดชอบเพื่อให้เพศชายมีวินัยในการป้องกันหากเกิดการมีเพศสัมพันธ์กับเพศหญิงให้มากขึ้น เพราะผลกระทบที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นกับผู้หญิงโดยตรงเพราะเป็นฝ่ายตั้งท้อง กรณีที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ก็ต้องพักการเรียนโดยไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติเหมือนคนอื่นๆเด็กท้องไม่พร้อมทุกคนไม่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้งเสมอไป ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ควรมีระบบการบริการโดยมีการโน้มน้าวจิตใจหรือสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมซึ่งอยู่ในฐานะนางสาวแม่ หรือเด็กหญิงแม่ไม่ต้องการที่จะไปทำแท้ง

           ๑๐.ผู้แทนสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่า

- สถานการณ์ของประชากรไทยใน ๔๐ ปีที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นเรื่องการลดปริมาณประชากร จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการวางแผนครอบครัวตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งพบว่าอัตราคุมกำเนิดลดลง โดยวัดจาก ผู้หญิงไทยอายุ ๑๕-๔๙ ปี โดยนับรวมผู้หญิงทั้งที่จดทะเบียนสมรสแล้วและกรณีอยู่กินฉันสามีภริยา จากการคุมกำเนิดทำให้อัตราเพิ่มของประชากรลดลง จากร้อยละ ๓ ลดลงเหลือร้อยละ ๐.๗

- อัตราคลอดจำแนกตามกลุ่มอายุแม่ ช่วงกลุ่มอายุ ๒๐-๓๔ ปี เป็นกลุ่มที่ส่งเสริมให้มีบุตร กลับพบว่ามีแนวโน้มลดลง แต่กลุ่มอายุ ๑๕-๑๙ ปี และอายุ ๓๕-๓๙ ปี กลับมีอัตราการคลอดเพิ่มขึ้น

- อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ ๑๕-๑๙ ปี ต่อผู้หญิงอายุ ๑๕-๑๙ ปี จำนวน ๑,๐๐๐ คน มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ ๔๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นร้อยละ ๕๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยอายุ ๑๕-๑๙ ปี เป็นอายุสากลที่ปรากฏอยู่ใน “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium DevelopmentGoals: MDGs)”

- จำนวนการคลอดของวัยรุ่นหญิงเฉลี่ยต่อวัน วัยรุ่นอายุ ๑๐-๑๙ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ จำนวน ๓๑๖ คน ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวน ๒๔๐ คน และวัยรุ่นอายุ ๑๐-๑๔ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ จำนวน ๙ คน ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวน ๔ คน

- จำนวนและร้อยละของการคลอดซ้ำในวัยรุ่น จำแนกตามกลุ่มอายุ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ดังนี้

(๑) กลุ่มอายุ ๑๐-๑๙ ปี ร้อยละ ๑๒.๔

(๒) กลุ่มอายุ ๑๕-๑๙ ปี ร้อยละ ๑๒.๘

(๓) กลุ่มอายุ ๑๐-๑๔ ปี ร้อยละ ๐.๐

- วิธีการคุมกำเนิดที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือการฝังยาคุมกำเนิด บางท่านยังเข้าใจว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไม่ใช่ปัญหาหากพ่อแม่มีฐานะทางการเงินดี แต่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าไม่เหมาะสมเนื่องด้วยสรีระทางร่างกายและยังเป็นวัยที่ควรพัฒนาตนเองมากกว่า

- ปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขยังแก้ไม่ได้คือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ เด็กแรกเกิดจะต้องมีน้ำหนักน้อยกว่า ๒,๕๐๐ กรัมได้ไม่เกินร้อยละ ๗ แต่ประเทศไทยมีอัตราสูงกว่าร้อยละ ๗ ตลอด โดยพบว่า แม่ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี มีโอกาสเกิดกรณีเด็กแรกเกิดน้ำหนัก ต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณร้อยละ ๒๐ เพราะฉะนั้นหากต้องการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยจะต้องลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นด้วย

- ร้อยละของผู้ที่ทำแท้งจำแนกตามกลุ่มอายุ ดังนี้ ๑) ร้อยละ ๓๖.๑ มีสถานภาพนักเรียน/นักศึกษา ๒) ร้อยละ ๓๐ อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี และ ๓) ร้อยละ ๕๗.๕ อายุต่ำกว่า ๒๕ ปี

- อายุครรภ์ของผู้ที่ทำแท้ง ส่วนใหญ่ต่ำกว่า ๑๒ สัปดาห์

- การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

๑) การเรียนรู้เรื่องเพศ (สถานศึกษา/ครอบครัว/ชุมชน)

๒) การจัดบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น

๓) ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ

๔) การป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ

๕) การขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์หรือ Medabon กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ส่งเสริมให้มีการทำแท้ง เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการทำแท้งให้ปลอดภัย โดยพยายามขับเคลื่อนให้ยายุติการตั้งครรภ์อยู่ในบัญชียาหลัก เพื่อให้สามารถเบิกได้ และโรงพยาบาลสามารถซื้อขายกับบริษัทยาได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านใช้กันหมดแล้ว จึงหาซื้อขายได้ง่ายตามเว็บไซต์ พบว่าร้อยละ ๙๕ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

๖) การผลักดันกฎหมาย

๗) การจัดทำ ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

- เวชภัณฑ์คุมกำเนิดทุกวิธี อยู่ในงบประมาณที่ใช้สำหรับสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP Package) ซึ่งเป็นงบประมาณที่จัดสรรเป็นรายหัวไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัด ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดว่าจะนำเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปใช้ในการดำเนินงานเรื่องใด แต่กลับไม่นำมาจัดสรรใช้กับการคุมกำเนิด มีเพียงยาเม็ดยาฉีด ไม่มียาฝังคุมกำเนิดและห่วงคุมกำเนิด จากการศึกษาพบว่ามีโรงพยาบาลประจำอำเภอเพียงร้อยละ ๓๐ และโรงพยาบาลประจำจังหวัดร้อยละ ๖๐ ที่มีบริการฝังยาคุมกำเนิดและห่วงคุมกำเนิด เลยนำข้อมูลมาผลักดันกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดทำเป็นโปรแกรมพิเศษให้เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน

          ๑๑.ผู้แทนมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงได้ให้ข้อมูลว่า

- มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงมีนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ เช่น ยายุติการตั้งครรภ์ นับเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า แต่สังคมไทยยังใช้เทคโนโลยีที่เก่าและล้าสมัยอยู่ เพราะอุปสรรคจากความคิดและมุมมองที่ล้าหลัง นอกจากนั้นถ้าเรามีฐานคิดและมุมมองเรื่องเพศของวัยรุ่นในมุมมองที่เห็นว่าเด็กจะมีโอกาสในการพัฒนาตนเองและมีสุขภาพทางเพศที่เข้มแข็งได้ต่อเมื่อมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่เรื่องเพศศึกษาในสังคมไทยกลับยังไม่มีการระบุทางการและชัดเจนว่าเพศศึกษาที่จะอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนจะเป็นไปในทิศทางและเนื้อหา

แนวทางการทำงานให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ใช้กลไกที่เป็นธรรมทางภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้กลไกกระบวนการทำงานของสังคมและชุมชนเข้าร่วมด้วย มูลนิธิพบว่าถ้ามีกระบวนการทำงานในระดับชุมชนอย่างเข้มข้นโดยสร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มประชาสังคม กลไกที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและจำเป็น ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ กฎหมายได้เปิดทางในกระบวนการพัฒนาคนและกระบวนการทำงานเชิงชุมชนมากน้อยเพียงใด

- เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีกลไกการทำงานอย่างไรที่จะเน้นการบูรณาการร่วมกันในทุกระดับได้

- การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น จำต้องดำเนินการ ดังนี้

๑) กฎหมายและนโยบายจะต้องเป็นไปในเชิงป้องกันและให้ความรู้กับเด็กอย่างครบถ้วน และเปิดกว้าง

๒) กฎหมายและนโยบายต้องเน้นการพัฒนาระบบสาธารณสุข ระบบสวัสดิการสังคม

๓) รูปแบบการทำงานต้องมีการบูรณาการระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

          ทั้งนี้ข้อคิดเห็นดังกล่าวได้ใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นในพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ และการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรวัยรุ่น ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์  เป็นบุคคลที่มีค่าของประเทศ

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สำนักกรรมาธิการ ๓ สำนักงานเลขาธิการ

วุฒิสภา โทร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๖

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226 

ที่มาของข่าว https://www.naewna.com/lady/columnist/41243
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก