ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถานีพัฒนาสังคม: การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

วันที่ลงข่าว: 03/09/19

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว) วันเสาร์ ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 02.00 น.

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นประเด็นน่ากังวลที่ยังไม่ถูกนำมาพิจารณา

- ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๕๕ พบว่าจำนวนเด็กหญิงอายุ ๑๐-๑๔ ปี ที่คลอดบุตรเพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่า

- ๓ ใน ๔ ของความรุนแรงในครอบครัว ผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กมากที่สุดมีสถานภาพเป็นแฟน และเด็กอายุ ๑๐- ๑๕ ปี คือกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด

- ความรุนแรงของคู่รักวัยรุ่น ได้แก่ การใช้คำหยาบคายทำลายข้าวของ การนอกใจ ทำร้ายร่างกาย การตั้งครรภ์ไม่พร้อม กักขังหน่วงเหนี่ยว มีเพียง ๓ ใน ๑๐ เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม ๑๓๐๐ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

- ๒ ใน ๓ ของการกระทำรุนแรงต่อเด็กคือ การล่วงละเมิดทางเพศและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กอายุ ๑๐-๑๔ ปี คลอดบุตรเพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่า

๓.ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อมูลว่า

กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาครูที่ปรึกษาและครูสอนเพศศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้นในรูปแบบของแผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ โดยดำเนินการดังนี้ (๑) การพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (๒) การผลักดันให้โรงเรียนมัธยมศึกษามีการสอนเพศศึกษา/พฤติกรรมเสี่ยงในโรงเรียน (๓) การดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้มีโอกาสศึกษาต่อไป และ (๔) การพัฒนางานคุ้มครองเด็กนักเรียน

๔.ผู้แทนศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ข้อมูลว่า

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการในรูปแบบของ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์และเพศศึกษา”ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขมากขึ้นดังนี้

       ๑) การพัฒนาระบบการดูแลและช่วยเหลือนักเรียน

(๑) กำหนดเป็นนโยบายสำคัญให้โรงเรียนทุกแห่งต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในทุกมิติ

(๒) จัดทำชุดเอกสาร “การดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการแนะแนว” เพื่อเป็นแนวทางให้ครูได้ใช้ประโยชน์ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ๑ ชุด

       ๒) การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม

(๑) จัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน โดยอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ในเรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาเป็นระยะๆ

(๒) จัดทำเอกสาร “แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษา” ทุกชั้นปีให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๔๔ ต่อเนื่องถึงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ครอบคลุมทุกมิติใน ๖ มิติ คือ(๑) พัฒนาการทางเพศ (๒) สัมพันธภาพระหว่างบุคคล (๓) ทักษะส่วนบุคคล (๔) พฤติกรรมทางเพศ (๕) สุขภาพทางเพศ และ (๖) สังคมและวัฒนธรรม

(๓) จัดการคัดเลือกแผนการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาและโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เพศศึกษา ระดับมัธยมศึกษา

(๔) การพัฒนาเพศศึกษาในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กำหนดมาตรการและแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพศศึกษา

(๕) การเสริมสร้างทักษะชีวิต สพฐ. กำหนดการพัฒนาทักษะชีวิตในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม องค์ประกอบของทักษะชีวิตของ สพฐ. มี ๔ องค์ประกอบ ได้แก่ ๑) ตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ๒) การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ๓) การจัดการกับอารมณ์และความเครียด และ๔) การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น

(๖) การพัฒนานักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา ซึ่งได้รับการอบรมในการให้คำปรึกษาแก่เพื่อนนักเรียนที่เผชิญปัญหาต่างๆ หากเกินกำลังจะส่งต่อครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนวเพื่อการแก้ไขปัญหา ในลำดับต่อไป

(๗) จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ใน ๔ เรื่อง ๔ เล่ม ดังนี้

- มาตรการและแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน

- แนวทางการป้องกันและช่วยเหลือปัญหาทางเพศของเด็กและวัยรุ่น

- การพัฒนาเพศศึกษาในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

- แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเด็กที่ก้าวพลาด

(๘) ดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์และเพศศึกษา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ (กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์องค์การแพทย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก ฯลฯ)

       ๓) การเฝ้าระวังและส่งเสริมความประพฤตินักเรียน

(๑) การส่งเสริมการอบรมพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.)

(๒) มาตรการเฝ้าระวังเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยจัดงบประมาณสนับสนุนแผนเฝ้าระวังเหตุของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ให้สามารถดำเนินการและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงเทศกาลสำคัญๆ

       ๔) การคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนกรณีตั้งครรภ์แล้ว

(๑) มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเด็กตั้งครรภ์ที่หลากหลาย โดยเด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา

(๒) การคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนกรณีตั้งครรภ์แล้ว

       ๕. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ให้ข้อมูลว่า

การดำเนินการส่วนใหญ่จะอยู่ที่สถาบันการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเพียงหน่วยนโยบายและสนับสนุน ซึ่งการดำเนินงาน มี ๓ ส่วน ๑) การจัดการเรียนการสอน เช่น เรื่องเพศศึกษา บทบาทความสัมพันธ์หญิงชาย อนามัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่จะบรรจุอยู่ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป ซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องเรียนจึงจะจบการศึกษา มีการพัฒนาวิธีการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักศึกษา เพื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี ๒) สนับสนุนกิจกรรมเสริมหลักสูตร พัฒนานักศึกษาด้านคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติ สร้างค่านิยมการรักนวลสงวนตัว รู้เท่าทันสื่อ จัดกิจกรรมให้แก่นักศึกษาเพื่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และ ๓) สนับสนุนให้สถานศึกษามีระบบบริการสวัสดิการ เช่น อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา

       ๖.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ให้ข้อมูลว่า

การดำเนินการด้านการดูแลผู้เรียนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในสถานศึกษาโดยการสอดแทรกการเรียนการสอนในหลักสูตรทั้งระดับ ปวช.และปวส. ในวิชาเพศศึกษา รวมทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษาถึงเรื่องเพศ การป้องกันการตั้งครรภ์ ตามหลักสูตรที่จัดโดยหน่วยศึกษานิเทศก์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนคือ องค์การแพท (มูลนิธิแพธทูเฮลท์) มาช่วยดำเนินการให้ความรู้ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับอาจารย์และนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาตามความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง

       ๗. ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Population Fund - UNFPA) ได้ให้ข้อมูลว่า

- สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหากดูจากสถิติมีจำนวนสูงขึ้นเป็นเท่าตัว UNFPA ได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงการคุมกำเนิดมีการปรับเปลี่ยนในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมากรณีที่ไม่ป้องกัน คือ เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นโดยมีเพศสัมพันธ์กับเพศที่ไม่ใช่คู่เป็นตัวตนจึงไม่ได้ใช้วิธีการป้องกันส่วนใหญ่จะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน และไม่ใส่ถุงยางอนามัย จึงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ และกรณีที่ป้องกัน คือ บุคคลที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาโดยไม่ได้แต่งงานซึ่งจะใช้วิธีการคุมกำเนิดโดยการทานยาคุมกำเนิด

- ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ออกกฎ ระเบียบ และข้อเสนอใหม่ คือ หากเด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดแบบถาวรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

- ขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะลดเรื่องการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นให้เหลือครึ่งหนึ่ง แต่มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ คือ การให้รู้ มีความตระหนักรู้ก็ยังมีความเห็นที่หลากหลาย กรณีการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือไม่ ในหลายเวทีที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันยังเป็นห่วงประเด็นนี้อยู่ แต่ทาง UNFPA ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ มีข้อมูลเชิงประจักษ์จากหลายองค์กรว่า การให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์กับวัยรุ่นไม่ใช่เป็นเรื่องของการชี้โพรงให้กระรอกแต่เป็นการทำให้ไม่เป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น และการกล่าวถึงเรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้านไม่ใช่เฉพาะเรื่องการตั้งครรภ์ หรือการป้องกันเรื่องเอชไอวีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเคารพสิทธิการถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่น ในประเด็นนี้พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังไม่ได้สามารถบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึง ไม่มีมาตรฐานในการสอนที่เป็นภาคบังคับ เป็นเพียงการใช้ดุลยพินิจในการสอนของแต่ละโรงเรียนเท่านั้น

          ๘.ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (The United Nations Funds for Population Activities - UNFPA) ได้ให้ข้อมูลว่า

ที่ผ่านมาเรื่องเพศศึกษาอยู่ในส่วนหนึ่งของวิชาสุขศึกษาไม่ได้เป็นวิชาภาควิชาบังคับ จึงไม่นับเป็นจำนวนชั่วโมงการสอน ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานศึกษาว่าจะออกแบบการสอนในลักษณะนี้อย่างไร ยกตัวอย่าง ประเทศอาร์เจนตินา กฎหมายกำหนดให้มีการเรียนการสอน CSE ภาคบังคับ กฎหมายนี้ช่วยยืนยันสิทธิของวัยรุ่นในการเรียนรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะส่งเสริมให้มีการจัดการสอนเพศศึกษาในทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กฎหมายยังได้กำหนดเนื้อหาของเพศศึกษาโดยกำหนดให้ ชูประเด็นมิติสิทธิมนุษยชน มิติเพศสภาพ และมิติกายภาพ

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6 แฟกซ์ 02-831-9226

ที่มาของข่าว https://www.naewna.com/lady/columnist/41165
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก