ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยรับรองปฏิญญาที่ประชุมจี 20 กำหนดทิศทางอนาคตของงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รองรับสังคมผู้สูงอายุ

วันที่ลงข่าว: 03/09/19

          หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 (LEMM) ระหว่างวันที่ 1 - 2 กันยายน 2562 ณ เมืองมัตสึยามา ประเทศญี่ปุ่น ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอัตราการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2567 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จึงดำเนินการเพื่อรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ทั้งการลงนาม MOU ร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 40 จาก 60 ปี เป็น 65 ปี เป็นต้น 

         ประเทศไทยจะใช้โอกาสการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในการขยายตลาดแรงงานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ประเทศไทยในฐานะแขกรับเชิญพิเศษ (ประธานอาเซียน) ยังได้ร่วมรับรองปฏิญญาที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 ค.ศ.2019 ภายใต้หัวข้อหลัก “การกำหนดทิศทางอนาคตของงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก G20 ต่อการกำหนดทิศทางด้านนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอนาคตของงาน โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการรับรองร่างปฏิญญาฯ แล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562

        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ปฏิญญามีสาระสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ นโยบายที่เกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานขึ้น อันเป็นผลที่เกิดมาจากสังคมผู้สูงอายุ การจ้างงานรูปแบบใหม่ และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการหารือเพื่อเตรียมกำหนดนโยบายรองรับงานรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย 

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก