ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปิดแผนวิจัย-นวัตกรรมปี 63-70 นำไทยสู่ประเทศพัฒนา ทุ่มงบปีแรก 3.7 หมื่นล้าน

วันที่ลงข่าว: 02/09/19

          รองโฆษกรัฐบาลเผยแผนอุดมศึกษา วิจัย นวัตกรรมฯ ปี 63-70 วางเป้าหมายใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมนำไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเดิมปีแรกจัดงบ 37,000 ล้านบาท ให้งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

          วันที่ 31 ส.ค.62 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่ามุ่งเน้นการสร้างคน ใช้วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

          แผนดังกล่าวจะใช้งบประมาณปี 2563 วงเงิน 37,000 ล้านบาท จัดสรรแก่งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการขับเคลื่อนประกอบด้วย 5 ด้านคือ 1) พัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2)การวิจัยจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน 4) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 5) การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มากไปกว่านั้นการดำเนินการในแต่ละด้านจะมีหลายแผนงานและตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างชัดเจน เพื่อประเมินการทำงานและปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ของประเทศ

 

รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้ ดังนี้

ด้านการพัฒนาคนและสถาบันความรู้

-เพิ่มนักวิจัยและพัฒนาเป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คนภายในปี 2564

-มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเทคโนโลยี AI จำนวน 5,000 ราย

 

ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม

-อัตราการนำขยะจากทุกกระบวนการกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี

-ลดจำนวนวันที่มีปริมาณพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยความรู้การวิจัยและนวัตกรรม

-เกิดนวัตกรรมเมืองที่ใช้หลักการยูนิเวอร์แซลดีไซน์ที่มีการออกแบบให้เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ คนพิการ และประชากรทุกช่วงวัย

 

ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

-อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดโดย IMD อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก

-จำนวน local startups ที่เกิดใหม่และอยู่รอด 1,000 รายใน 3 ปี

-ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรม S-Curves มียอดขายเพิ่มขึ้นจากสินค้าและบริการนวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยร้อยละ 10 ต่อปี

 

ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

-เกิดนวัตกรรมชุมชน วิสาหกิจชุมชน และ Smart SMEsเพื่อยกระดับรายได้ให้กับชุมชนปีละ 1,000 นวัตกรรม

-ปฏิรูปการเรียนรู้ให้มีจิตอาสา 8,000 คนต่อปี

-ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่ลดลงจาก 5.5 เท่าเหลือ 3 เท่า

 

ด้านการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

-มหาวิทยาลัยไทยติด 100 อันดับแรกของโลกจำนวน 2 สถาบัน

-เกิดการจดสิทธิบัตร การถ่ายทอดเทคโนโลยี จากศูนย์วิจัยบ่มเพาะที่ตั้งขึ้นใหม่

 

นางสาวรัชดา ได้กล่าวในตอนท้ายว่า นโยบายและแผนงานดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นการเตรียมความพร้อมสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันจากการพัฒนาเทคโนโลยี

 

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/politics/detail/9620000083666
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก