ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัมนาสังคม: แนวทางการจัดบริการสำหรับคนพิการทางจิตสังคมตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 13/08/19

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

โดยได้พิจารณาศึกษาสถานการณ์ ปัญหา และ อุปสรรคแนวทางการจัดบริการสำหรับคนพิการทางจิตสังคม ที่เหมาะสมในประเทศไทยตามหลักการของอนุสัญญาว่า ด้วยสิทธิคนพิการ โดยมีข้อเสนอแนะ ๔ ด้าน ดังนี้

 

๑.ด้านกฎหมาย

๑) รัฐควรดำเนินการแก้ไขตัวบทกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Legal Harmonization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถทางกฎหมายของบุคคลตามประมวลกฎหมาย ทั้งนี้ มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะดังกล่าวแล้วในประเทศเปรู

๒) รัฐควรกำหนดมาตรฐานการให้บริการสำหรับ ผู้ป่วยหรือคนพิการทางจิตสังคมเพื่อให้บริการทั้งของรัฐและเอกชนสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ โดยคำนึงถึงหลักความสามารถทางกฎหมาย (Legal Capacity) เจตนารมณ์และความประสงค์ของบุคคล (Will and Preferences) ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจโดยได้รับการสนับสนุน (Supported Decision-Making) มากกว่าการให้ผู้อื่นตัดสินใจแทนโดยสิ้นเชิง (Substituted Decision-Making)

๓) รัฐควรดำเนินการเผยแพร่ความรู้เรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพชีวิตคนพิการด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การจ้างงาน และการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงในสังคมให้แก่เจ้าพนักงาน คนพิการ ผู้ดูแล และชุมชน ในรูปแบบและภาษาที่เข้าถึงได้โดยสะดวกและเข้าใจได้ง่าย

๔) รัฐควรเสริมสร้างและสนับสนุนกลุ่มคนและองค์กรด้านคนพิการที่มีความเข้มแข็งในการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

๕) รัฐควรปรับปรุงกฎหมายสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยไม่ควรแยกส่วนจากกัน โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล มากกว่าการมุ่งที่จะรักษาเฉพาะจุดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสำคัญ และควรกำกับดูแลการตรากฎหมายทุกฉบับเพื่อประเมินผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต คนพิการด้วย

 

๒.ด้านสาธารณสุข

๑) รัฐควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์(Paradigm Shift) แนวทางการให้บริการคนพิการทางจิตสังคมในประเทศไทย โดยใช้แนวทางที่เน้นการคืนสู่สุขภาวะ (Recovery Oriented Service) เพื่อปรับบริการสำหรับคนพิการทางจิตสังคมของประเทศไทยให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น มุ่งเน้นให้คนพิการทางจิตสังคมได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง กลับมามีชีวิตที่เป็นสุข มีความหมาย โดยการรักษาจะไม่เพียงใช้ยา แต่จะเป็นการฟื้นฟูรอบด้านทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เน้นการมีส่วนร่วมในเส้นทางสู่สุขภาวะของ ตัวเอง ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ลงมือทำ และรับผิดชอบในชีวิตของตัวเอง

๒) รัฐควรมุ่งเน้นแนวทางการให้บริการคนพิการทางจิตสังคมโดยชุมชนเป็นฐานสำคัญในการให้บริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางจิตสังคม โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกแบบระบบการดูแล ให้ สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของคนพิการทางจิตสังคม

๓) รัฐควรนำแนวคิดเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Support) มาใช้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดไว้ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เพื่อให้ผู้มีประสบการณ์ตรงหรือผู้ดูแลได้เข้ามามีส่วนการสนับสนุนการตัดสินใจของคนพิการในการเลือกวิธีการบำบัดรักษา

๔) รัฐควรพัฒนากลไกสนับสนุนการให้บริการ คนพิการทางจิตสังคม ดังนี้

          (๑) พัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้บริการคนพิการทางจิตสังคม สำหรับบุคลากรระดับปฐมภูมิ และสุขภาพจิตศึกษา สำหรับคนพิการทางจิตสังคมและกลุ่มคนที่มีปัญหาทาง สุขภาพจิต รวมถึงสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตเป็นครั้งแรก

          (๒) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล (Full & Effective Participation) ของคนพิการทางจิตสังคมผ่านองค์กรของคนพิการในการกำหนดนโยบาย การทำแผน การดำเนินงาน การกำกับดูแลติดตามการดำเนินงานขององค์กรหรือหน่วยงานด้านสุขภาพจิตทุกระดับ

          (๓) ศึกษาความคุ้มทุนด้านงบประมาณในการบำบัดรักษา โดยคำนึงถึงปัจจัยอย่างรอบด้าน ซึ่งควรรวมถึงการสูญเสียวันทำงานของคนพิการทางจิตสังคมและผู้ดูแล ผลกระทบทางจิตใจของคนในสังคม ไม่เพียงแค่ยาหรือ ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น

 

๓.ด้านการศึกษา

๑) การศึกษาในระบบ : รัฐควรจัดให้นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชนมีประสบการณ์เชิงบวกกับคนพิการ ทางจิตสังคมหรือผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต เพื่อให้เกิด ความรู้ ความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้ง ชมรมในสถานศึกษา เพื่อดูแลและป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น การรังแก การเสพติด และความเครียด เป็นต้น

๒)การศึกษานอกระบบ : รัฐควรส่งเสริมการศึกษาเพื่อกลุ่มคนพิการทางจิตสังคมหรือกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อให้คนพิการทางจิตสังคมได้นำประสบการณ์มาร่วมพูดคุยเรียนรู้และตัดสินใจวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง เน้นการเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตศึกษา ทักษะชีวิต โดยกำหนดแนวทางการสนับสนุนด้านการศึกษา การทำงาน และการดำเนินการจัดตั้งกลไกการเผยแพร่การศึกษาเหล่านี้ให้เข้าถึงชุมชนทั่วไป

 

๔.ด้านการสร้างความตระหนักรู้

๑) รัฐควรรณรงค์ส่งเสริมให้สื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ นำเสนอข่าว สาระ สาระบันเทิง และการบันเทิงทั่วไป ให้นำเสนอประเด็นด้านสุขภาพจิตและคนพิการทาง จิตสังคมอย่างสร้างสรรค์

 

๒) รัฐควรสร้างสื่อคุณภาพและรณรงค์ในวงกว้างผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนพิการด้านจิตสังคม

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สำนักกรรมาธิการ ๓ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โทร. ๐-๒๘๓๑๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐-๒๘๓๑๙๒๒๖

 

อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/nnd/3026096

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/3026096
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก