ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อบจ.ยะลา จับมือหน่วยงานเกษตร ธ.ก.ส. จัดงานส่งเสริมการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้าน สร้างนวัตกรรม แนวคิด และเรื่องราวของทุเรียนพื้นบ้าน ขยายสายพันธุ์ สู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันที่ลงข่าว: 07/08/19

องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา จับมือหน่วยงานเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดงานส่งเสริมการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้าน สร้างนวัตกรรม แนวคิด และเรื่องราวของทุเรียนพื้นบ้าน ขยายสายพันธุ์ สู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

 

          เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดยะลา ต่างให้ความสนใจเดินทางนำทุเรียนพื้นบ้านมาเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ได้ร่วมกับสำนักสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดยะลา จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรอนุรักษ์การปลูกทุเรียนพื้นบ้าน สร้างนวัตกรรม แนวคิด และเรื่องราวของทุเรียนพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดยะลา ให้นักท่องเที่ยวรู้จักจังหวัดยะลา มากขึ้น พัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุเรียนพื้นบ้าน เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งยังขยายสายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านสู่เกษตรกรในพื้นที่

 

          สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายและเสวนาให้ความรู้ การประกวดทุเรียนพื้นบ้าน การประกวดอาหารจากทุเรียนพื้นบ้าน ประเภทคาวหวาน การแข่งกินทุเรียนพื้นบ้าน การจัดนิทรรศการให้ความรู้ทุเรียนพื้นบ้าน กิจกรรมออกร้านเกษตรกร การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด สินค้า OTOP และสินค้าผู้พิการ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถไปรวมชมงาน ได้ตั้งแต่วันนี้ (6 ส.ค. 62) ไปจนถึงวันพรุ่งนี้ (7 ส.ค. 62) ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา

 

          นายมนตรี หมวกไสว ปลัดาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะล เปิดเผยว่า เนื่องจากจังหวัดยะลาอาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนประกอบอาชีพเกษตร รายได้หลักมาจากยางพารา และมีการปลูกไม้ผลจำนวนมากโดยเฉพาะการปลูกทุเรียน เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้รองของจังหวัดยะลา ซึ่งทุเรียนพื้นบ้านจังหวัดยะลามีอยู่เป็นจำนวนมาก บางชนิดมีรสชาติ ความอร่อยในตัวเอง ไม่แพ้ทุเรียนพันธุ์

 

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาได้ตระหนักว่า หากไม่มีการอนุรักษ์ก็จะเกิดการสูญหายไปจากพื้นที่จังหวัดยะลา จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้าน ขึ้น พร้อมทั้งจัดประกวดทุเรียนพื้นบ้าน โดยหลังจากประกวดเสร็จสิ้นก็ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะมาส่งเสริมการขยายพันธุ์ ปรับปรุงทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านให้มีรสชาติที่ดีมากขึ้น ต่อไป ซึ่งนอกจากในอนาคตทุเรียนพื้นบ้านจะมีจำนวนมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ผลผลิตมีราดาดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถขยายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านสู่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น สอดรับกับวาระจังหวัดของผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในวาระ "Durian City อีกด้วย"

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก