ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: แนวทางการจัดบริการสำหรับคนพิการทางจิตสังคม ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 05/08/19

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

นิยาม "คนพิการทางจิตสังคม"

"คนพิการทางจิตสังคม" มีนิยามในแต่ละกฎหมาย แตกต่างกัน อาทิ (๑) กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ได้แก่ คนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ตามเกณฑ์ การประเมินของจิตแพทย์ ซึ่งต้องเป็นคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคจิตเวชอย่างน้อย ๑ ปี ได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเหมาะสมแล้ว แต่ยังไม่กลับคืนมา เหมือนเดิม (๒) กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต จะใช้คำว่า "ผู้ป่วย" โดยรวมถึงคนพิการทางจิตสังคมด้วย (๓) สมาคมคนพิการ เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "ผู้บกพร่องทางจิต"

 

ประเด็นทางกฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ คนพิการของคนพิการทางจิตสังคม

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ มีข้อบทที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทางจิตสังคม ที่สำคัญ ดังนี้

ข้อบทที่ ๑๒ เรื่อง การยอมรับอย่างเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมายความสามารถทางกฎหมาย (Legal Capacity) การตัดสินใจโดยได้รับการสนับสนุน (Supported Decision-Making) ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังสับสนในเรื่องคนพิการทางจิตสังคมกับบุคคลไรความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ทำให้ผู้ดูแลหรือคนแวดล้อม กระทั่งนักวิชาชีพจำนวนไม่น้อยก็ยับยั้งการขอมีบัตรคนพิการ ด้วยความปรารถนาดีเพราะเกรงว่าบุคคลนั้นจะเสียสิทธิตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ตัดสินใจแทนคนพิการ ทางจิตสังคมในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย การรักษาพยาบาล ส่วนอีกด้านหนึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายส่วนหนึ่งก็เข้าใจผิดว่าคนพิการทางจิตสังคมไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของตน ทำให้มีการใช้เรื่องนี้ในทางที่ผิด

 

 

 

(๒)ข้อบทที่ ๕ เรื่อง ความเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ ในประเด็นด้านการศึกษาและการจ้างงาน คนพิการทางจิตสังคมจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากผลกระทบจากโรคจิตเวชขณะอยู่ในวัยเรียน โดยบุคลากรและเพื่อนนักเรียน นักศึกษามักไม่เข้าใจสภาวะของผู้ป่วย ไม่มีกลไกสนับสนุนเพียงพอ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คนพิการทางจิตสังคม จึงมีโอกาสได้รับเข้าทำงานน้อยกว่าคนอื่นๆ แม้กระทั่งเมื่อเทียบกับคนพิการด้านอื่นๆ

 

(๓)ข้อบทที่ ๑๔ เรื่อง เสรีภาพและความมั่นคงของ บุคคล คนพิการทางจิตมักถูกกักขัง จำกัดเสรีภาพ ขณะรับ การรักษาในโรงพยาบาล อีกจำนวนหนึ่งก็จะถูกคนในครอบครัวที่ขาดความรู้ความเข้าใจล่ามขัง การขาดการศึกษาและหน้าที่การงานก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนพิการทางจิตต้องพึ่งพิงผู้อื่นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ขาดความมั่นคง

 

(๔)ข้อบทที่ ๑๕ เรื่อง เสรีภาพจากการถูกทรมาน หรือการลงโทษ หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตราบาปและความรุนแรงต่อคนพิการทางจิตด้วยวาจาและการกระทำในระบบการดูแล การรักษาพยาบาล ระบบการผูกมัดยังมีอยู่

 

 

 

(๕)ข้อบทที่ ๑๖ เรื่อง เสรีภาพจากการแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรง และการล่วงละเมิด คนพิการ ทางจิตสังคมตกเป็นเหยื่อเนื่องจากข้อจำกัดในการคิด การรับรู้ และการตัดสินใจ ทั้งๆ ที่สังคมส่วนใหญ่ตีตราว่าคนพิการทางจิตเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง

 

(๖)ข้อบทที่ ๑๙ เรื่อง การอยู่อย่างอิสระและเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน ในปัจจุบันนอกจากการส่งต่อยาจิตเวชไปยังคนในชุมชนผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แล้ว บริการในชุมชนที่จะสนับสนุนคนพิการทางจิตสังคมให้อยู่ได้อย่าง ราบรื่นในชุมชนยังไม่มี รวมทั้งบริการดูแลของภาคเอกชน ซึ่งยังไม่มีการจดทะเบียนก็ยังเป็นไปในลักษณะจำกัดอิสรภาพคนพิการทางจิตเช่นเดียวกัน

 

(๗) ข้อบทที่ ๒๓ เรื่อง การเคารพสิทธิในการสร้างครอบครัว คนพิการทางจิตสังคมส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่อง ความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว โดยคนส่วนใหญ่ยังมองว่า คนพิการทางจิตสังคมไม่ควรมีครอบครัว อันเป็นที่มาของการทำหมันโดยผู้ดูแลตัดสินใจแทน

 

 

 

(๘) ข้อบทที่ ๒๕ เรื่อง การเข้าถึงบริการสุขภาพและประกันสุขภาพ การแยกส่วนการรักษาสุขภาพจิตกับสุขภาพกาย ทำให้คนพิการทางจิตหลายครั้งถูกปฏิเสธหรือถูกละเลยการรักษาสุขภาพกาย สำหรับเรื่องประกันชีวิตและ สุขภาพ ประกันชีวิตเอกชนไม่คุ้มครองสุขภาพและชีวิต คนพิการทางจิตสังคม/ผู้ป่วยทางจิต ทั้งการมีประวัติการรักษาทางจิตเวชอาจทำให้กรมธรรม์ที่ถืออยู่เป็นโมฆะได้

 

(๙) ข้อบทที่ ๒๖ เรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยเร็วในชุมชน ซึ่งปัจจุบันกรมสุขภาพจิตมีนโยบายบูรณาการบริการจิตเวชเข้ากับระบบการดูแลรักษาปฐมภูมิ แต่การส่งเสริมป้องกัน การดูแลรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความจำกัดด้านงบประมาณ สถานบริการ และบุคลากรในการให้บริการทางสุขภาพจิต

 

(๑๐) ข้อบทที่ ๒๗ เรื่อง งานและการจ้างงาน สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการเชิงบวกเรื่องโควตาการจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็ยังไม่ค่อยเปิด โอกาสให้คนพิการทางจิตสังคม โดยระเบียบการรับสมัครงาน ของภาครัฐมักกำหนดเรื่องลักษณะต้องห้ามข้อหนึ่งไว้ว่า "คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ" โดยเหมารวม คนที่มีประวัติการรักษาพยาบาลทางจิตเวชด้วย ซึ่งส่งผลกระทบ ให้ปฏิเสธการรับคนพิการทางจิตสังคมเข้าทำงาน

 

(๑๑) ข้อบทที่ ๒๘ เรื่อง มาตรฐานความเป็นอยู่และความคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอ ความจำกัดทางการศึกษาและการจ้างงานส่งผลอย่างมากต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนพิการทางจิตสังคม แม้ปัจจุบันภาครัฐได้จัดสวัสดิการหลายอย่างสำหรับคนที่ยากลำบากรวมถึง คนพิการแต่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

 

(๑๒ )ข้อบทที่ ๒๙ เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองและเรื่องสาธารณะ เนื่องด้วยคนพิการทางจิตสังคมจำนวนมากโดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคจิตเภท ประเด็น สำคัญๆ ทางสังคมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิ่งหนึ่ง ที่ได้รับการขยายความสำคัญในความคิดหลงผิด แต่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนั้น อาจถูกจำกัดด้วยลักษณะต้องห้ามว่า "วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน"

 

(๑๓) ข้อบทที่ ๓๐ เรื่อง การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม นันทนาการ การผ่อนคลายยามว่างและกีฬา ความพิการทางจิตสังคมเป็นความพิการที่มองไม่เห็นทำให้คนพิการทางจิต สังคมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาคนพิการ และผลกระทบจากโรคส่งให้คนพิการทางจิตสังคมมีแนวโน้มจะแยกตัวจากชุมชน จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมจริงจังให้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและนันทนาการต่างๆ

 

(๑๔) ข้อบทที่ ๓๑ เรื่อง สถิติและการเก็บรวบรวมข้อมูล คนพิการทางจิตสังคมเป็นความพิการที่มองไม่เห็นและคนพิการเกรงว่าจะถูกตีตราจากสังคม จึงมักไม่ยอมทำบัตรคนพิการ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมที่จัดให้คพิการ การค้นหา จำแนกทางสถิติว่ามี คนพิการทางจิตสังคมจำนวนเท่าไร ในช่วงวัย เพศสภาพ และมีความต้องการจำเป็นอย่างใดบ้างจึงเป็นเรื่องจำเป็น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม  หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/3022757
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก