ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"มองไม่เห็นไม่ใช่ปมด้อย" ครูนักปราชญ์ด้านกาพย์กลอน ผู้ให้โอกาสเด็กยากไร้

วันที่ลงข่าว: 05/08/19
พลิก "ความพิการ" ให้เป็น "โอกาส" เปิดเรื่องราวชีวิต “ครูน้ำฝน” จากนักศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 ทุนพระราชทาน สู่ครูผู้จุดประทีปทางปัญญาให้แก่เด็กๆ ด้อยโอกาส ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ แม้จะตาบอดแต่หัวใจของเธอไม่มืดบอด
 
“น้ำฝน บัวหิรัญ” หรือ “ครูน้ำฝน”
 
 
ไม่เคยยอมแพ้ แม้มองไม่เห็น
 
“หนูคิดว่าการที่หนูเป็นคนพิการ หนูขอบคุณมากเลย ตอนหนูเป็นเด็กที่มองเห็นเลือนราง หนูไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือด้วยซ้ำเพราะสนใจแต่วาดภาพอย่างเดียว พอเป็นเด็กพิการมันทำให้เรารู้ว่า คนในสังคมบางส่วนเขาอาจจะมองว่าเรา(ผู้พิการ) ขาดมากกว่าเขา เราก็จะต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับเขาได้ มันก็เลยทำให้เราพิสูจน์ตัวเอง พัฒนาตัวเองตลอดเวลา”
 
แม้ดวงตาจะมองไม่เห็น แต่ “น้ำฝน บัวหิรัญ” หรือ “ครูน้ำฝน” แห่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จ.ชัยนาท ก็ไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา ครูน้ำฝนได้เปิดเผยเรื่องราวของตนเองให้แก่ผู้สัมภาษณ์ฟังว่า ชีวิตของเธอไม่ได้เติบโตมาอย่างสุขสบายนัก ทั้งร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พร้อม ประกอบกับฐานะทางบ้านที่ขัดสน ซึ่งตรงข้ามกับหัวใจที่มุ่งมั่น เธอพยายามอย่างหนักในการพิสูจน์ตนเองว่า แม้จะเป็นคนพิการแต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเดินตามความฝัน คือการเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ”
 
 
 
“หนูเกิดมา พ่อบอกว่าหนูมองไม่เห็นแล้ว ก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลเด็กราชวิถี ตอนนั้นกลับมามองเห็นปกติ ก็เห็นมากพอสมควรนะคะ เสร็จเรียบร้อยก็ไม่ได้รักษาต่อเพราะความคิดที่ว่าไม่น่าจะจำเป็น แล้วก็ด้วยรายได้ พ่อเลยไม่ได้พาไปรักษาต่อ พอโตมาก็เข้าเรียนกับเพื่อนปกติ อ่าน - เขียนหนังสือปกติ แต่ก็ยังไม่รู้ตัวเราว่าเรามองใกล้ๆ ชอบอ่านหนังสือใกล้ๆ
 
จนกระทั่งอายุประมาณ 10 ขวบ มันเริ่มมองไม่เห็นข้างซ้ายก่อน ก็ยังไม่รู้ตัวเอง จนกระทั่งเดินชนนู่นชนนี่ แม่เป็นคนสังเกต ก็เลยพาไปตัดแว่น พาไปหาหมอ หมอก็ไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร จนกลับไปที่โรงพยาบาลเด็กราชวิถี หมอบอกว่าเราเป็นต้อหิน แต่เพราะไม่ได้รักษาต่อเนื่อง เราก็เลยมองไม่เห็นไปแล้ว 1 ข้าง ส่วนอีกข้างควรจะรักษาต่อ แม่ก็เลยพารักษาต่อ แต่ขณะนั้นพ่อกับแม่ก็แยกทางกัน แม่ก็พาไปรักษาอยู่เรื่อยๆ แต่ด้วยรายได้ก็ทำให้รักษาไม่ต่อเนื่อง ก็เลยทำให้ตาบอดทั้ง 2 ข้าง”
 
 
 
ครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองมองไม่เห็นก็ร้องไห้ค่ะ ที่ร้องไห้คือเสียใจที่ตัวเองจะไม่ได้วาดภาพ เพราะตอนมองเห็นชอบวาดภาพมาก อยากเป็นจิตรกรค่ะ แม่ก็เสียใจที่รักษาลูกไม่ได้ ก็กลายเป็นคนเสียสติไปเลย ชอบกักขัง บางครั้งเผลอตัวไม่ได้ตั้งใจก็จะตีลูก หนูก็มีน้องอีก 2 คนก็โดนไม่ต่างกัน พอหลังจากนั้นก็มีทางโรงพยาบาลติดต่อมาว่า คนตาบอดสามารถเรียนหนังสือได้นะ เราก็เลยไปฝึกอักษรเบรลล์ ใช้เวลาฝึก 2 เดือนค่ะ ก็ได้พื้นฐาน ก็มาเรียนร่วมกับคนปกติตอน ป.5”
 
ในความโชคร้ายของครูน้ำฝน ยังมีความโชคดีซ่อนอยู่ เพราะแม้เธอจะกลายเป็นผู้พิการทางสายตา แต่เธอเป็นเด็กเรียนดีและมีความสามารถด้านแต่งกลอน หลังจากที่มีโอกาสกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง พรสวรรค์ด้านนี้ของเธอก็ฉายแสงออกมาอย่างเจิดจ้า เพราะหากมีการจัดการประกวดในด้านนี้ ครูน้ำฝนก็มักจะกวาดรางวัลที่ 1 ติดมือกลับบ้านมาเสมอ
 
และคนที่จะมายืนยันพรสวรรค์นี้คือ สมทรง กีรติมาพงศ์ อดีตครูโรงเรียนพระนารายณ์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นครูประจำชั้นของครูน้ำฝนในวัยเด็ก ครูสมทรงไม่เพียงแค่ครูที่ให้ความรู้ แต่ยังเปรียบเหมือนแม่บุญธรรมของครูน้ำฝนเลยทีเดียว เพราะคอยดูแล ผลักดัน และพาครูน้ำฝนไปแข่งขันแต่งกลอนยังที่ต่างๆ จนได้รางวัลมากมาย 
 
 
 
กวาดรางวัลด้านการแต่งกลอนสดเป็นว่าเล่น
 
“เห็นเขาแล้วก็สงสาร เห็นสภาพครอบครัวแล้วอยากช่วยเหลือเขา เขาอดทน เขาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง มาโรงเรียนเอง เราก็เอ็นดูตรงนั้น เหมือนเขาชอบภาษาไทยอยู่ในจิตวิญญาณ ครูเห็นแววตั้งแต่ตอนไปแข่ง ก็ส่งเสริมเขา ตอนที่เขาเฟื่องฟูมากๆ คือตอน ม.2 แข่งขันศิลปหัตถกรรม ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ เขาได้ทั้งหมด มีแข่งขันเล่านิทาน แต่งกลอน พูด ประชันกลอนสด ทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาษาไทย น้ำฝนแข่งหมด ตอนจบ ม.3 เขาได้ที่ 1 ทั้งหมด 7 รางวัล ระดับประเทศเลย”
 
ด้าน ครูน้ำฝน ก็ได้เล่าเพิ่มเติมถึงสมัยที่แข่งขันแต่งกลอนสดว่า “การแข่งขันแต่งกลอนสด เขาจะกำหนดหัวข้อมาให้ แล้วเราต้องแต่งในจำนวนนาทีที่กำหนด สมัยหนูเรียนมัธยมก็ 10 นาที พออยู่มหาวิทยาลัยก็ 8 นาทีค่ะ แต่เราห้ามใช้ถึง 8 นาทีนะคะ มันต้องคัดให้ลายมือสวยอีก ก็ต้องแต่งให้ได้ใน 5 นาที หนูคิดแล้วให้เพื่อนเขียน ก็ได้ที่ 1 ค่ะ”
 
ตอบแทนคุณแผ่นดิน เด็กทุนในหลวง สู่ครูโรงเรียนของในหลวง
 
จากการค้นพบพรสวรรค์ของตนเองในวัยเด็ก ประกอบกับแรงผลักดันจากคนรอบข้าง ทำให้น้ำฝนมุ่งมั่นที่จะเลือกเดินในเส้นทางของการเป็น “ครูภาษาไทย” ซึ่งตลอดชีวิตวัยเรียนของครูน้ำฝน เธอไม่เพียงมุ่งมั่น พัฒนาศักยภาพของตัวเอง แต่เธอยังทำทุกทางเพื่อให้ได้เงินมาแบ่งเบาภาระครอบครัวและส่งเสียน้องเรียนด้วย
 
“หนูตั้งใจมาตั้งแต่ตอนเรียนประถมเลยค่ะว่าเราจะเป็นครู เราชอบภาษาไทย ขนาดสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง ในเอกอื่น ก็ยังสอบเพื่อมาอยู่ราชภัฏเพื่อจะเอาครูภาษาไทยเลยค่ะ(ยิ้ม)
 
ภาษาไทยไม่ได้แค่ความเก่า เรื่องเล่า วรรณกรรม วรรณคดี แต่ภาษาไทยเวลาเอามาเขียน เอามาร้องเรียงเป็นเรื่องสั้น เป็นกลอน เป็นบทกวี มันเป็นศิลปะในตัวเอง มีความลึกซึ้ง มีคุณค่า มีจิตวิญญาณ ซึ่งเราสัมผัสได้ตั้งแต่เด็กแล้วเราก็รักมันมากๆ”
 
ด้วยความมุ่งมั่นและพากเพียร ในที่สุดครูน้ำฝนก็จบการศึกษาประดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และสิ่งที่ทำให้เธอและครอบครัวภาคภูมิใจมากกว่ากว่านั้นคือ การได้รับทุนพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 
 
 
 
ครูน้ำฝนรับทุนพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อสมัยเป็นนักศึกษา
 
“หนูได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ค่ะ เกรดเฉลี่ย 3.62 รางวัลที่ได้รับในระดับปริญญาตรีคือ รางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นทุนพระราชทาน มอบในโอกาสที่เขาจะดูผลงานของนักศึกษา ว่าคนไหนเรียนดี เก่งอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีจิตอาสา มีการร่วมกิจกรรมกับคนอื่นค่ะ
 
งานหลักๆ ของมหาวิทยาลัยที่หนูทำก็คือการชมรม “แทนดวงตา” ค่ะ เป็นชมรมที่เราชักชวนเพื่อนสนิทที่สายตาปกติจำนวน 10 กว่าคน เข้ามาเพื่อที่จะทำกิจกรรมให้กับน้องๆ ผู้พิการคนอื่นๆ ค่ะ”
 
การได้ทุนพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเท่านั้น แต่ครูน้ำฝนยังตระหนักด้วยว่า เธอต้องทำอะไรเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินให้มาก และนั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเธอจึงเลือกมาเป็นครูที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 
 
 
 
“มีคนถามว่า ทำไมเราไม่ไปเป็นครูโรงเรียนคนพิการเลย เราก็คิดในใจ ถ้าเราอยู่โรงเรียนปกติ เราช่วยได้ทั้งเด็กปกติและเด็กพิการค่ะ แล้วมาเจอโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เราคิดว่าโรงเรียนแบบนี้เด็กย่อมจะต้องการอะไรอีกมาก เพราะว่าเด็กที่อยู่โรงเรียนนี้จะเป็นเด็กด้อยโอกาส เป็นชนกลุ่มน้อยจากจังหวัดต่างๆ เด็กที่ยากจนมากๆ และเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
 
หนูก็คิดว่าทุกคนก็อยากอยู่ที่ดีๆ แล้วเด็กพวกนี้จะมีใครสนใจเขาบ้าง เรามองไม่เห็นก็จริง การสอนมันไม่ใช่แค่สอนอยู่บนตัวหนังสือ พอมาอยู่ก็มีทั้งความรัก ความอบอุ่น และคำแนะนำให้เขา ถามว่าทำไมเรามองไม่เห็นแล้วเราสอนได้ มันพูดไม่ถูก มันเป็นใจที่รู้สึกกันได้ค่ะ
 
หลังจากนั้นหนูก็คิดมาตลอดว่าการที่เรามองไม่เห็นมันไม่ใช่ปมด้อย แต่ว่ามันคือสิ่งที่ทำยังไงที่จะพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ ว่าเรามีอะไรที่เขาควรจะยอมรับ บางคนก็อาจจะไม่ชอบคนพิการ แต่หนูมองว่าคนที่ไม่ชอบอาจจะไม่รู้ ถ้าเขามาเรียนรู้ว่าคนพิการใช้ชีวิตยังไง เขาจะไม่คิดว่าคนพิการขาด แต่เขาจะคิดว่าคนพิการยังมีอะไรอีกมากที่ทำได้ และสามารถเติมเต็มกันและกันได้” 
 
สุข...ที่ได้เป็นผู้ให้
 
ไม่เพียงแค่ผู้สัมภาษณ์เท่านั้น เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยถึงการเรียนการสอนของครูฝน เนื่องจากเธอเป็นผู้พิการทางสายตา เธอจะมีวิธีดูแลเด็กที่ไม่สามารถมองเห็นอย่างไร มีการจดจำหรือสื่อสารกับนักเรียนให้เขาอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ด้วยวิธีไหน มีเครื่องมือในการสอนแตกต่างจากทั่วไปอย่างไร รวมถึงการใช้ชีวิตเพียงลำพังในบ้านพักครูของโรงเรียนประจำแห่งนี้
 
“ตอนแรกที่มาอยู่ในโรงเรียนก็จะมีคนมาแนะนำเราก่อนค่ะว่าแต่ละจุดมีอะไรบ้าง ไม่ได้ใช้ไม้เท้าเลย ใช้ความคุ้นเคยเอาค่ะ ส่วนการจำนักเรียนอย่างแรกเราต้องจำนักเรียนคนหลักๆ ให้ได้ ถ้าเป็นห้องที่เรียนเก่งเราจะจำได้ง่ายจากเสียง บางคนก็จำจากเสียงเดินการเคลื่อนไหว บางคนก็มีเอกลักษณ์ประจำตัวเองที่เขาไม่รู้ แต่เราก็จำได้ แล้วก็จำคนที่มีความรับผิดชอบมากๆ อย่างการบ้าน เราไม่สามารถเห็นได้หรอกค่ะว่านักเรียนเขียนเก่งขนาดไหน
 
 
 
แต่พอเขาส่งสมุดการบ้านมา จะมีคนที่เขียนไม่ตั้งใจบ้าง จะมีพี่อีกคนบอกเรา ให้ 10 คะแนนนะ ให้ 9 คะแนนนะ พอเราเอาสมุดนั้นไปคืนก็จะบอกว่า คนที่ได้ 10 คะแนนให้รักษามาตรฐานไว้ เผื่อจะได้เกรด 4 แล้วทีนี้คนที่ได้น้อยก็จะคิดว่า ถ้าเราทำให้เรียบร้อยเราก็จะได้คะแนนเต็มเหมือนเพื่อน มันจะเป็นการใช้แรงจูงใจแบบกลุ่มค่ะ”
 
ส่วนการสอนของหนูก็จะมีหนังสือที่เป็นหนังสือเบรลล์ค่ะ ซึ่งจะมีเนื้อหาเหมือนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กำหนดไว้เหมือนกับของนักเรียนทุกอย่าง แต่เราใช้หนังสือนี้เพื่อเวลาเราสอนนักเรียนเราจะได้รู้ว่าให้นักเรียนเปิดหน้าที่เท่าไหร่ และเวลาเขาอ่านเราก็อ่านให้เขาฟังได้ เหมือนกับที่เขากำลังอ่านหรือกำลังทำแบบฝึกหัดอยู่”
ที่มาของข่าว https://mgronline.com/live/detail/9620000072585
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก