ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“อัศวิน” ย้ำสั่งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ “สุนัขนำทาง” ของผู้พิการทางสายตา

วันที่ลงข่าว: 05/08/19

ผู้ว่าฯ กทม. เผยสั่งการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ “สุนัขนำทาง” ของผู้พิการทางสายตา พร้อมไฟเขียวเข้าสวนสาธารณะได้ หลัง “น้องทราย” นำ “เจ้าลูเธอร์” เข้าพบในที่ประชุม พร้อมประสานหน่วยงานสุนัขตำรวจเรื่องการฝึก รวมทั้งเรื่องใบอนุญาต

 

วันนี้ (31 ก.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับสถานีวิทยุ อสมท. เอฟ.เอ็ม.100.5 กรณีที่เชิญ น.ส.คีริน เตชะวงศ์ธรรม หรือน้องทราย และเจ้าลูเธอร์ สุนัขนำทาง เพื่อหารือถึงปัญหาการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาที่เหมาะสม ว่า เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) มีการประชุมประจำเดือนของหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการเขตขึ้นไปถึงรองสำนัก เพื่อให้ทุกคนรับทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศก็มี โดย น.ส.คีริน ระบุว่าที่สหรัฐอเมริกา ได้ยื่นความจำนงแต่ละรัฐก็จะอำนวยความสะดวกให้ โดยเทียบเคียงกับสุนัขตัวอื่น เช่น พันธุ์ลาบาดอร์ ที่ฝึกปรือเพื่อช่วยนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา

 

ทั้งนี้ ในประเทศไทย มีเพียงเฉพาะบางหน่วยงานความมั่นคง เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ก็จะมีสุนัขดมกลิ่นเพื่อตรวจจับวัตถุระเบิด ยาเสพติด ดีเอ็นเอสำหรับติดตามคนร้าย แต่สำหรับสุนัขนำทางนั้นยังไม่มี ผู้พิการทางสายตาส่วนมากจะใช้ไม้เท้าเคาะไปตามถนนต่างๆ จึงถามว่ามีอะไรอยากจะเสนอแนะให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยทำ ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครอย่างเดียว เธอกล่าวว่าขณะนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสให้สิทธิ์ในการขึ้นรถไฟฟ้า จึงอยากจะเข้าสวนสาธารณะ ซึ่งสวนสาธารณะใน กทม. มีประมาณ 60-70 สวน แต่ด็อกปาร์ค (Dog Park) ของ กทม. มีแค่ 2 สวน เกรงว่าสุนัขที่ไม่ได้ผ่านการฝึกจะเข้าไปก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือเข้าไปขับถ่ายต่างๆ

 

เมื่อวานนี้จึงได้ข้อยุติ คือ หนึ่ง น.ส.คีริน ต้องการเข้าสวนสาธารณะได้ หรือสถานที่ราชการต่างๆ เช่น อยากไปต่อบัตรประชาชนที่ขาด นอกนั้นช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ที่สำคัญคืออยากได้ทางลาดชัน ทางต่างระดับ จึงสั่งการให้ค่อยๆ ทำทางลาดชัน ไม่ใช่สำหรับสุนัขนำทางอย่างเดียว แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา และผู้ที่ใช้รถวีลแชร์ด้วย ส่วนกรณีที่เสนอให้มีทางม้าลายมีเสียงสัญญาณ บริเวณสัญญาณไฟ เพื่อบอกเวลาในการข้ามถนน เนื่องจากผู้พิการทางสายตามองไม่เห็นไฟนับถอยหลังนั้น ในปัจจุบัน กทม.มีน้อยมาก จะพยายามทำเพื่อความเท่าเทียมของผู้พิการทางสายตาด้วย

 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า บางทียามหรือเจ้าหน้าที่ของสวนสาธารณะเขาไม่เข้าใจก็จะไม่ให้เข้า เราก็จะให้ผู้ที่รับผิดชอบ เช่น หัวหน้าสวนสาธารณะแต่ละสวนไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าสุนัขนำทางจะมีลักษณะแตกต่างไปจากตัวอื่น อาทิ บริเวณหลังจะมีป้ายบอกว่าเป็นสุนัขที่ผ่านการฝึก แต่จุดอับของประเทศไทย คือ ยังไม่มีศูนย์ฝึกที่ถูกต้อง ซึ่งจะประสานตำรวจตระเวนชายแดน หรือตำรวจ 191 ถึงความเป็นไปได้ว่าจะให้ฝึกสุนัขนำทางได้หรือไม่ เพราะตัวที่จะเป็นสุนัขนำทางได้มีเพียงตัวเดียวในประเทศไทย กรณีที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาและมีสุนัขนำทางก็จะใช้ได้ด้วย

 

ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะประสานช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร เพราะมีบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และออสเตรเลียที่มีการฝึกสุนัขนำทาง ซึ่งพ่อของ น.ส.คีริน กล่าวว่า มีโรงเรียนฝึก เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกประมาณ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ และค่าอาหารประมาณ 1 พันบาท แต่สุนัขจะเชื่อฟังและเก่งมาก ส่วนโครงการประชารัฐฝึกสุนัขนำทางครั้งแรกร่วมกับกรมการสัตว์ทหารบกนั้น ยังไม่เกิดเป็นเรื่องราวจริงๆ แต่จะคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถออกใบประกาศเพื่อให้ใช้สุนัขนำทางได้หรือไม่ เพราะดูแล้วสุนัขนำทางเก่งมาก เพราะกฎหมายให้สิทธิความเป็นมนุษย์ และอยากจะประชาสัมพันธ์ไปถึงหน่วยงานราชการด้วย เพราะยังไม่ทราบ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้พิการทางสายตา ในสิ่งที่เป็นไปได้ควรพิจารณาตามความเหมาะสม

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000072899
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก