ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก (Disability Inclusive Development : DID)

วันที่ลงข่าว: 18/07/19

           อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป และเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติฉบับแรก ในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเน้นการขจัดอุปสรรคจากภายนอก ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของคนพิการ ตลอดจนการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างยิ่ง โดย ความยากลำบากในการดำรงชีวิตของคนพิการประเภท ต่างๆ มิได้เกิดจากความบกพร่องของสภาพทางกาย จิตใจ พฤติกรรม หรือสติปัญญาซึ่งเป็นเพียงเหตุให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งเท่านั้น หากแต่เกิดจากอุปสรรคภายนอกที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นทั้งสิ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ ต่อมาทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายด้านคนพิการ ในประเทศไทยอย่างมากมาย โดยบัญญัติสาระสำคัญอันเกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการไว้ ในกฎหมายต่างๆ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้น อันเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนและ เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับ คนพิการไว้ในกฎหมายไทยที่สอดคล้องกับความในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

          เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) กำหนดต่อเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ที่สิ้นสุด ลงเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ โดยประเทศสมาชิกทั่วโลก กว่า ๑๑๓ ประเทศ ได้รับรองเอกสาร "การเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ๒๐๓๐" (Transforming Our World : The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งถือเป็นพันธะสัญญาทางการเมือง ในระดับผู้นำเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ของโลกในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ รวมถึง รูปแบบและการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสานต่อ ภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ทั้งได้กำหนด ๑๗ เป้าหมาย และ ๑๖๙ เป้าประสงค์ ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ พัฒนาประเทศเพื่อขจัดความยากจนความหิวโหย รวมทั้งส่งเสริม สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อีกทั้งจัดทำเนื้อหาการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่มโดยยึดถือหลักสำคัญว่า "No one left behind" หรือ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ SDGs มีการผนวกรวมประเด็นคนพิการไว้ใน ๗ เป้าหมาย ๘ เป้าประสงค์และ ๑๑ ตัว ชี้วัดด้วยกัน

         "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในกระแสการพัฒนาของสังคมโลก และถูกนำมาใช้ในเชิงวาทกรรมทั้งนโยบายในระดับประเทศไปจนถึง ระดับองค์กร โดยในประเทศไทยได้มีการดำเนินงานที่สอดรับ กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และถือเป็นประเด็น สำคัญที่นำมาใช้กำหนดกรอบและนโยบายการพัฒนาประเทศ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เป็นต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วน ได้ร่วมสร้างสังคมที่เป็นสุข ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดปัญหา ความยากจน ส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจน มีการผลิต และบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในประเทศไทย ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการ พัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย แต่ทว่าในการประชุม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ในวาระเรื่องการจัดลำดับความสำคัญและแนวทาง (Roadmap) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้มีมติให้การจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ๓๐ ลำดับแรก โดยในเป้าประสงค์เหล่านั้นมีเพียงเป้าประสงค์เดียวที่เกี่ยวข้องกับคนพิการจากทั้งหมด ๘ เป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการด้วยกัน

          การผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก (Disability Inclusive Development : DID) ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะสร้างหลักประกันสิทธิคนพิการให้เป็นจริงในการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน กิจกรรมของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ให้บูรณาการประเด็นคนพิการ ให้อยู่กับงานพัฒนากระแสหลัก มิใช่เป็นเพียงงานพัฒนาเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบประมาณต้องมีการบูรณาการงบประมาณด้านคนพิการเข้ากับงบประมาณด้านการพัฒนากระแสหลัก จะทำให้การผนวกรวมประเด็นคนพิการพัฒนาเกิดผลเป็น รูปธรรม เกิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาประเทศแบบองค์รวม เกิดสังคมบูรณาการ หรือสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Inclusive Society) ซึ่งคนพิการจะไม่ได้เป็นแค่ผู้ที่ได้รับการยอมรับและมีหลักประกันในสิทธิเท่านั้น แต่คนพิการคือส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากสังคม และเป็นการพัฒนา กลไกการติดตามและตรวจสอบการผนวกรวมประเด็น คนพิการกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน นโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ตามหลักคิดที่สำคัญ คือ "เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน" และ "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกคนอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ไปสู่ "สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Inclusive Society)" ต่อไป

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/3014645
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก