ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.สงขลา เตือนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

วันที่ลงข่าว: 18/07/19

            สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เตือนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ และ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคม

            นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ติดต่อโดยการไอ จาม อาการแสดงมีตั้งแต่ไข้สูง น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้แก่ ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2561 พบผู้ป่วย 185,829 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 284.03 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 32 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.05 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 21 มิ.ย.2562 พบว่ามีรายงานผู้ป่วย 617 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 43.79 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุแรกเกิด - 4 ปี อัตราป่วยเท่ากับ 129.1 รองลงมากลุ่มอายุ 5 - 9 ปี (114.58) และกลุ่มอายุ 10-14 ปี (56.97) ตามลำดับ โดยอำเภอที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ อำเภอคลองหอยโข่ง รองลงมาคือบางกล่ำ และเมืองสงขลา ตามลำดับ

            สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป , เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน , ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน , บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป , ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ , ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ที่มีอาการ) , ผู้ที่เป็นโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง , เคยแพ้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง หรือแพ้สารประกอบอื่นๆ ในวัคซีนอย่างรุนแรง , กำลังมีไข้หรือกำลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน , เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยเฉียบพลันมาไม่เกิน 7 วัน , เพิ่งมานอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน , ยังมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีอาการกำเริบ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หรือยังควบคุมอาการของโรคไม่ได้ อาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น หายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจเสียงดัง ลมพิษ ซีด อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาร่างกายให้อบอุ่น , ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ , หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด , เครื่องใช้ส่วนตัวไม่ควรใช้ปะปนกับบุคคลอื่น , ไม่คลุกคลี หรือนอนร่วมกับบุคคลที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่

            นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงการรณรงค์ฯ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึง 31 สิงหาคม 2562 กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง และขอให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด ฉีด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4. หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ และ 5.ฉีด คือ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงฯ 

            ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ มี น้ำมูก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน หอบหืด โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภาวะอ้วน ให้รีบพบแพทย์ เพราะคนเหล่านี้เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ที่รับการฉีดวัคซีนเป็นปีแรก ควรฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดซ้ำได้ทุก 1 ปี ส่วนบุคคลทั่วไป ควรทานยาลดไข้ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก