ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 08/07/19

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

         ๒)ควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อแก้ไขนิยาม "การส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิต" กรณีอ้างอิง "กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงควรแก้ไขชื่อกฎหมายในบทนิยามให้ถูกต้อง เป็น "กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความระเบียบดังกล่าว

          ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ โดยในข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต" ในข้อ ๓ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

          "การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต" หมายความว่า การส่งเสริมหรือช่วยเหลือบุคคล ให้สามารถเข้าถึงปัจจัย พื้นฐานในการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขในสังคม หรือการส่งเสริม พัฒนาบุคคลให้มีความรู้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี

          การแก้ไขดังกล่าวเป็นการเขียนนิยามคำว่า "การส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิต" ในข้อ ๓ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ ขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้แก้ไขชื่อกฎหมายที่อ้างอิงในบทนิยามเดิมให้ถูกต้องตามมติ ที่ประชุมที่ได้ตกลงไว้ร่วมกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการตีความของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในอนาคตว่าค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ครอบคลุมถึงกรณีค่าใช้จ่ายในการ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพราะในบทนิยาม ไม่ได้มีการกล่าวถึงคนพิการแล้ว แต่อย่างใด

          อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คนพิการได้รับความช่วยเหลือด้านส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จากองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจริง กระทรวงมหาดไทยจึงควรร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เร่งจัดทำหลักเกณฑ์ การช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามข้อ ๑๖ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

          ๓)ควรทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศได้รับทราบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ สามารถดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบของ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ และสามารถดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

          ๔)ควรทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกแห่งทั่วประเทศและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๖๗ กำหนดให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้ หากมี กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับใดๆ กำหนดไว้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น โดยเฉพาะในกรณีมาตรา ๒๑ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณของตนเองเพื่อตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการส่วนท้องถิ่นได้ รวมทั้ง ให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่น ในการบริหารกองทุน การจัดการกองทุน การอนุมัติการจ่ายเงิน และการสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนดได้ด้วย

          ๒.กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

          ๑)ควรจัดทำหนังสือกำกับไปยังองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทุกครั้งที่มีการส่งเงินอุดหนุน จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เบิกจ่ายเงินดังกล่าวตามระเบียบของกองทุน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อเป็น หลักฐานในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโดยสำนักงานการ ตรวจเงินแผ่นดินด้วย

           ๒)ควรเร่งดำเนินการปรับปรุงระเบียบปัจจุบันหรือ ออกระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุน การจัดการกองทุน การอนุมัติการจ่ายเงิน และการสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่วนท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์มาตรา ๒๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖

          ๓)ควรประสานกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอให้ซักซ้อมความ เข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้รับทราบว่า กรณีเงินอุดหนุน จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายตามระเบียบของกองทุน

         ๔)ควรประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนการกระจายอำนาจ คู่มือหรือแนวทางปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความเข้าใจต่อขอบเขตอำนาจหน้าที่และแหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ ได้อย่างถูกต้องและมีแนวปฏิบัติที่ตรงกัน

         ๕)ควรร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการรณรงค์และสนับสนุนให้คนพิการ ที่ประสงค์จะขอรับ ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ยื่นลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถรับความช่วยเหลือได้ตามที่กำหนดในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑

         ๓.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเร่งจัดทำหลักเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามข้อ ๑๖ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชนได้ โดยเร็ว ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวควรต้องครอบคลุมถึงประชาชน ทุกกลุ่ม เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งต้องบูรณาการสิทธิต่างๆ ของทุกหน่วยงานที่ประชาชนควรได้รับให้มี ความชัดเจนและไม่เกิดความซ้ำซ้อน อาทิ กรณีการแจกรถวีลแชร์ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น

          ๔.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ควรสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทั่วประเทศในฐานะหน่วยงานตรวจสอบการ ใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับทราบแนวทาง การดำเนินงาน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งถือเป็นฐานอำนาจหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้มีแนวทางตรวจสอบการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

           ๕.สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ควรสร้างความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานด้าน การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสมาคมได้รับทราบแนวทางดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานฉบับดังกล่าวต่อที่ประชุม และได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร. ๐๒-๘๓๑๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐๒-๘๓๑๙๒๒๖

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

 

 

ที่มาของข่าว อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/nnd/3011855
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก