ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ผ้าทอของเด็กพิเศษ “HEARTIST” ธุรกิจด้วยหัวใจของ “วริศรุตา ไม้สังข์”

วันที่ลงข่าว: 04/07/19

HEARTIST (ฮาร์ททิส) มาจากคำว่า HEART+ARTIST คือกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ ที่ใช้ “หัวใจ” สร้างผลงานเปลี่ยนโลก "บุคคลพิเศษ"

กระเป๋าลวดลายเก๋ สีสันสะดุดตา  มีกับดักฝัน (Dreamcatcher) ห้อยคล้องเพิ่มความสวย ดึงดูดคนชอบงานดีไซน์ ที่แวะชมเฟซบุ๊ค และ อินสตาแกรมของ “HEARTISTdid” 
 
นี่คือ “HEARTIST” (ฮาร์ททิส) กิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ (Social Enterprise : SE) จาก “โปสเตอร์-วริศรุตา ไม้สังข์” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Listen by Heart วิดีโอและสื่อภาพสอนภาษามือ “ภาษาอเมริกันกลาง” สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน
วันนี้เธอมาปลุกปั้น HEARTIST แบรนด์ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ในโลกอันน่าทึ่งของบุคคลพิเศษ    
 
“HEARTIST ใช้ผ้าทอซาโอริจากช่างทอบุคคลพิเศษ ซึ่งเป็นผ้าที่มาจากกระบวนการบำบัด เราไม่มีการกำหนดสีสัน
 
ไม่มีการกำหนดลวดลาย เพราะฉะนั้นผ้าในแต่ละใบจึงมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ไม่ใช่ผ้าที่มีตามท้องตลาดทั่วไป เราเรียกช่างทอผ้าของเราว่า HEARTIST (HEART+ARTIST) เพราะทุกคนคือศิลปินที่ใช้หัวใจทอ”
 
โปสเตอร์ บอกเล่าผลงานล่าสุดที่เกิดจากความตั้งใจจริง หลังลงไปทำงานเป็นอาสาสมัครกับ “กลุ่มอรุโณทัย” การรวมตัวของแม่ๆ ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ โดยหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือ การทอผ้าบำบัด เพื่อช่วยให้น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางสมอง มีสมาธิ นิ่ง จดจ่อกับตัวเอง และเข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้น
 
ผลงานจากการบำบัดคือผ้าทอจำนวนมาก ที่น้องๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเธอเห็นความสวยงามที่เกิดจากความ “ไม่เพอร์เฟค” อย่าง เกิดปุ่ม เกิดความไม่เรียบร้อยในบางช่วงของการทอ เพราะน้องบางคนกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ทำให้ยากต่อการผูกปม ขณะที่อีกหลายคนก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ที่ต้องตั้งสมาธิแน่วแน่กับงานตรงหน้า สลับกับการหลบไปพูดคุยกับเพื่อนในจินตนาการบ้าง ผ้าทอแต่ละผืนจึงทั้ง “พิเศษ” และ “โดดเด่น”
 
“มันคือเอกลักษณ์ที่ไม่อาจหาได้จากที่ไหน ตำหนิ คือความโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ของผ้าผืนนั้น ทำให้เห็นเลยว่าน้องๆ มีความสามารถนะ ถ้าเรานำผ้าทอของน้องมาพัฒนาเป็นโปรดักส์ได้ก็คงจะดี เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องการบำบัดแล้ว ยังทำให้น้องมีรายได้ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ด้วย”
 
เธอบอกประกายความคิดที่จุดขึ้นในใจ ณ ตอนนั้น และเริ่มหาทางลงมือทำเพื่อให้ความตั้งใจเป็นจริงขึ้นมาได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักกับ ศิลปินผู้ใช้หัวใจทำนามว่า HEARTIST
 
ผลงานทุกชิ้นมาจากการออกแบบของ โปสเตอร์ คนที่ไม่ใช่ดีไซเนอร์ และออกตัวอยู่ตลอดว่า งานของเธอยังไม่ดีและไม่สวยพอ เลยยังไม่กล้าตั้งราคาที่สูงมาก ทั้งที่ยอมรับว่า รับซื้อผ้าทอแต่ละผืนมาในราคาที่ค่อนข้างสูง ผ้าทุกชิ้นตัดเย็บยาก และมีความเสียหายเกิดขึ้นมาก หาช่างตัดเย็บก็ยากเย็น ทั้งค่าแรงช่างก็สูงลิ่วด้วย
 
“อย่างผ้าผืนนี้ซื้อมา 3 พันบาท ค่าช่างอย่างเดียว 1,500 บาท เพราะเราสั่งน้อยและบอกช่างตรงๆ ว่าอาจไม่ได้มีออเดอร์ให้เขาต่อเนื่อง เพราะต้องขึ้นกับผ้าที่ได้มาด้วย ปรากฏช่างตัดเสียทั้งผืน ดูเหมือนง่ายๆ แต่ทำยากมาก”
 
เธอแบ่งปันสถานการณ์เจ็บจุกที่เกิดขึ้น จากธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนส่วนตัวทุกบาททุกสตางค์ แถมยังเล่นเองเจ็บเอง ทำคนเดียวมาตั้งแต่ต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังยืนยันกับเราว่า ไม่เคยคิดจะลดต้นทุน ไม่เคยต่อราคา เพราะรู้ดีว่าผ้าแต่ละผืนทำมายากลำบากแค่ไหน นั่นคือโจทย์ของดีไซเนอร์และคนทำตลาดอย่างเธอที่จะต้องแก้ ไม่ใช่โจทย์ของน้องๆ ชาว HEARTIST
 
“ไม่ใช่หน้าที่ของน้องที่ต้องทำให้มันสวย เพราะน้องทำเพื่อบำบัด น้องจะทำอย่างไรก็ได้ ขอให้มีความสุขทำไปเลย แต่หน้าที่ทำให้สวยคือเรา” เธอบอกโจทย์ที่รับไว้
HEARTIST ไม่ได้ขายความพิการ ไม่ต้องการให้คนซื้อเพราะความสงสาร ทว่าสินค้าทุกชิ้นจะต้องขายได้ด้วยตัวเอง เธอจึงพยายามออกแบบให้มีความหลากหลาย กระเป๋าใช้งานได้หลายรูปทรง เมื่อผ้าทอของน้องต้นทุนแพง ก็นำวัสดุอย่างอื่นเข้ามาผสมผสาน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ราคาจับต้องได้ และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น อย่างการนำผ้าทอของชุมชนมาผสมกับผ้าทอชาว HEARTIST เพื่อเพิ่มมูลค่า การบุด้านในผ้าให้แข็งแรงขึ้น เพื่อให้กระเป๋าสามารถรับน้ำหนักได้ดี และใช้ทนทานขึ้น
 
“เมื่อก่อนเคยลงพื้นที่ชุมชนบ้านบัวงาม (อุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทอผ้าหลังการทำนา ตอนนั้นช่วยซื้อผ้ากลับมาโดยยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ เลยลองเอามารวมผสมกับผ้าทอบำบัดของน้องๆ ก็ทำให้ได้ผลงานที่หลากหลายขึ้น และมีการห้อยกับดักฝัน (Dreamcatcher) เหมือนดักฝันของตัวเองแล้วก็ฝันของน้องๆ ด้วย” เธอเล่า
 
ผลงานจากดีไซเนอร์มือสมัครเล่น ตั้งราคาขายที่ 390-1,590 บาท โดยกำไรที่ได้ จะแบ่งเข้าโครงการอรุโณทัย 30% ให้น้องๆ เจ้าของผลงาน 30% ส่วน 40% ยังเป็นของ HEARTIST เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ให้โครงการดีๆ ยังอยู่ต่อไปได้ เพื่อขยายผลไปสู่น้องๆ ได้กว้างขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มขยายไปรับซื้อผ้าในกลุ่มอื่นๆ เช่น มูลนิธิสมานใจ มูลนิธิที่ให้โอกาสแก่ผู้พิการทางสติปัญญา และโรงเรียนปัญญานุกูล ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จัดเรียนการสอนให้เด็กพิการทางสติปัญญา และออทิสติก
 
เป้าหมายต่อไป นอกจากการขายผ่านเว็บไซต์ และออกงานต่างๆ ตามแต่โอกาส ก็ตั้งใจจะไปฝากขายในหน้าร้านที่ต่างประเทศด้วย หลังจากที่แบรนด์นิ่งขึ้น มีรูปแบบที่แน่นอน และมีกำลังที่สามารถทำออเดอร์ได้มากกว่านี้ โดยฝันเล็กๆ ที่อยากทำให้สำเร็จ คือการมีศูนย์เวิร์คช้อป ที่จะสอนทำตั้งแต่การทอผ้า ตัดเย็บ ดีไซน์ จนได้เป็นกระเป๋า สำหรับผู้พิการในทุกๆ กลุ่ม  เพื่อทั้งบำบัด และสร้างโอกาสให้กับผู้พิการ ใครที่พร้อมก็สามารถลุกมาเป็นเจ้าของแบรนด์ตัวเองได้
 
“อยากให้น้องๆ ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว ถ้าน้องๆ สามารถเลี้ยงครอบครัวเขาได้นี่เจ๋งมากเลยนะ ถ้าวันหนึ่งสามารถพูดได้เต็มปากว่า พี่รับซื้อทุกผืน เขาคงมีกำลังใจ และวันนั้นจะขอจากพ่อแม่เลยว่า ขอถ่ายรูปน้องได้ไหม เพราะเราอยากบอกทุกคนว่า นี่คือ HEARTIST ของเรา ผ้าสวยๆ ผืนนี้ มาจากช่างทอคนนี้ และเขาทำเงินได้” เธอบอกความมุ่งมั่น
 
วันนี้โปสเตอร์ อายุ 25 ปี เธอยังคงทำอะไรมากมาย เพื่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม เธอว่า อยากมีแบรนด์ของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก และคิดมาตลอดว่า คงจะดีถ้าได้ทำอะไรที่นอกจากจะมีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยให้คนอื่นซึ่งไม่ได้รับโอกาสในสังคม สามารถเลี้ยงดูครอบครัวเขาได้ด้วย
 
วันนี้ฝันของเธออาจยังไม่เต็มใบนัก แต่เธอก็พยายามทำให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยมีต้นทุนสำคัญ คือความรัก ความตั้งใจ และ “หัวใจ” ที่เข้มแข็งดวงนี้  
 
นี่คือเรื่องราวของคนที่ไม่ใช่นักธุรกิจ ก็แค่ “HEARTIST” คนหนึ่งเท่านั้น
 
 

https://www.facebook.com/heartistdid/?fref=ts

 

 

 

ที่มาของข่าว https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/741750
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก